รีเซต

แบงก์กรุงเทพ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1.5 หมื่นล้าน ดูแลลูกค้าที่ได้รับผลจากโควิดต่อเนื่อง 3 ช่วง

แบงก์กรุงเทพ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1.5 หมื่นล้าน ดูแลลูกค้าที่ได้รับผลจากโควิดต่อเนื่อง 3 ช่วง
มติชน
31 พฤษภาคม 2564 ( 16:03 )
71
แบงก์กรุงเทพ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1.5 หมื่นล้าน ดูแลลูกค้าที่ได้รับผลจากโควิดต่อเนื่อง 3 ช่วง

ธนาคารกรุงเทพ หนุนโครงการประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู 1.5 หมื่นล้านบาท ดูแลลูกค้าที่ได้รับผลจากโควิดอย่างต่อเนื่อง 3 ช่วง

 

 

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ โครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ว่า จากผลกระทบการระบาดของโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี มีรายได้ลดลง ในขณะที่ทุกธุรกิจต้องบริหารสภาพคล่อง ดูแลการจ้างงาน และรักษาธุรกิจเพื่อจะได้กลับมาให้บริการอีกในไม่ช้า โดยธนาคารกรุงเทพมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในรูปสินเชื่อฟื้นฟูตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเพื่อวัตถุประสงค์หลัก 2 ด้าน คือ 1.เพื่อเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจไว้ และรักษาการจ้างงาน และ 2.เพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ให้เดินหน้าได้ตามศักยภาพเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

 

 

นายชาติศิริกล่าาวว่า สินเชื่อฟื้นฟูในครั้งนี้ มีเงื่อนไขที่ค่อนข้างยืดหยุ่นและเปิดกว้างขึ้น คืออัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ให้วงเงินสูงขึ้น ระยะเวลากู้ยาวขึ้น วงเงินสูงขึ้น และเปิดกว้างขึ้นทั้งสำหรับรายใหม่ที่ไม่เคยกู้ และ SME ที่ไม่มีหลักประกัน โดยธนาคารกรุงเทพตั้งเป้าสำหรับการให้สินเชื่อตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ของธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ 15,000 ล้านบาท

 

 

นายชาติศิริกล่าวอีกว่า ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งเราแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก สำหรับผู้ประกอบการที่รายได้ลดลง ธนาคารก็จะช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถประคับประคองกิจการและรักษาพนักงานไว้ ช่วงที่ 2 เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ลูกค้ามีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตสินค้าหรือให้บริการตามความต้องการอุปทาน (ดีมาน) ที่เพิ่มขึ้น ธนาคารก็จะให้การสนับสนุนในรูปของเงินทุนหมุนเวียน และ ช่วงที่ 3 เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง อาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุริจ ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินการได้ตามแผน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง