รีเซต

โควิด-19 : วิเคราะห์ตัวเลขคนตาย และนโยบายปิดเมืองของสหราชอาณาจักร

โควิด-19 : วิเคราะห์ตัวเลขคนตาย และนโยบายปิดเมืองของสหราชอาณาจักร
ข่าวสด
4 เมษายน 2563 ( 20:21 )
57
โควิด-19 : วิเคราะห์ตัวเลขคนตาย และนโยบายปิดเมืองของสหราชอาณาจักร

โควิด-19 : วิเคราะห์ตัวเลขคนตาย และนโยบายปิดเมืองของสหราชอาณาจักร - BBCไทย

ข่าวยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันทำให้หลายคนรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก

การคาดการณ์ว่าสถานการณ์ในอนาคตจะร้ายแรงแค่ไหนทำให้ประเทศต่าง ๆ สั่งปิดเมือง ให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน

แต่จริง ๆ แล้ว ยอดผู้เสียชีวิตกำลังสะท้อนอะไรกันแน่ แล้วสถานการณ์จะแย่ไปกว่านี้สักเท่าไร เรามาดูสิ่งที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรเป็นกรณีตัวอย่างกัน

แน่ใจหรือว่าไวรัสโคโรนาคือสาเหตุของการเสียชีวิต

มีการแจ้งตัวเลขผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทุกวัน แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้บอกเราเลยว่าไวรัสมีผลต่อการเสียชีวิตแต่ละรายมากน้อยแค่ไหน

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจจะเป็นสาเหตุหลัก หรือเป็นปัจจัยเสริม หรือไม่คน ๆ นั้นก็แค่มีเชื้ออยู่ในตัวขณะที่เสียชีวิตจากสาเหตุอื่น

คนที่เสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาทิ โรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ ซึ่งอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญ

ยกตัวอย่าง คนไข้วัย 18 ปีจากเมืองโคเวนทรีในอังกฤษ ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หนึ่งวันก่อนเสียชีวิต และในตอนนั้น สื่อก็รายงานกันว่าเขาเป็นคนอายุน้อยที่สุดที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19

อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาโรงพยาบาลแถลงว่าเขาเสียชีวิตจากการกำเริบของอาการอื่น และไม่เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

อย่างไรก็ดี ก็มีบุคลากรด้านสาธารณสุขและเด็กวัย 13 ปี ที่เสียชีวิตโดยไม่ได้มีโรคอื่นมาเป็นปัจจัยเสริม

ขณะนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหราชอาณาจักรพยายามจะหาว่าสัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่โดยเฉพาะอยู่ที่จำนวนเท่าไร

คาดการณ์ตัวเลขผู้เสียชีวิต

ในกรณีของสหราชอาณาจักร จากการคำนวณของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน สถาบันซึ่งรัฐบาลนำข้อมูลไปใช้อ้างอิง ชี้ว่าหากปล่อยให้ไวรัสแพร่ระบาดไปในหมู่ประชาชน อาจมีผู้เสียชีวิตถึง 5 แสนราย

อิมพีเรียล คอลเลจ ยังเตือนว่ามาตรการก่อนหน้านี้ของรัฐบาลที่จำกัดอยู่แค่การขอให้ผู้ที่แสดงอาการกักตัวเอง และให้ปกป้องกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ อาจทำให้มีผู้เสียชีวิต 2.5 แสนคน

ตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญหวังว่าการสั่งปิดเมืองจะทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตหยุดอยู่แค่ 2 หมื่นราย

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยชีวิตคน 4.8 แสนคนที่เหลือได้ หลายคนจะเสียชีวิตอยู่ดี ไม่ว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ก็ตาม

iStock

ในแต่ละปี สหราชอาณาจักรมีผู้เสียชีวิตราว 6 แสนคน คนชราและคนที่มีโรคประจำตัวอยู่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว พอ ๆ กับความเสี่ยงเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ศาสตราจารย์ เซอร์ เดวิด สปีเกิลเฮลเทอร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บอกว่าคนที่อายุมากกว่า 80 ปี เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ จะเสียชีวิตในปีถัดไป และความเสี่ยงที่คนกลุ่มนี้จะเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ก็เกือบจะเท่ากัน

แต่เขาบอกว่า นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนเสียชีวิตเพิ่ม แต่จะมีความคาบเกี่ยวกันอยู่มาก หมายความว่าหลายคนที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะเสียชีวิตอยู่ดีในช่วงเวลาอันใกล้

การปิดเมืองได้ผลแค่ไหน

วิธีตัดสินที่ง่ายที่สุดว่ามาตรการปัจจุบันของสหราชอาณาจักรได้ผลหรือไม่คือดูว่าอีก 2-3 สัปดาห์ที่จะถึงนี้ ระบบสาธารณสุขจะสามารถรับมือกับคนไข้โควิด-19 ได้มากน้อยแค่ไหน

หลังจากนั้นจึงจะสามารถวัด "จำนวนการตายส่วนเกิน" ระหว่างตัวเลขประเมินกับจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจริง

ทุกปี มีการติดตามจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว สำนักสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) บอกว่า ในช่วงฤดูหนาว 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สูงกว่าที่ประเมินราว 1.7 หมื่นรายต่อปี

BBC

ผลกระทบจากการปิดเมือง

แต่การปิดเมืองเองก็อาจทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุอื่นได้

ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ดินวอล จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมเทรนต์ บอกว่า ผลเสียหายข้างเคียงที่เกิดขึ้นต่อสังคมและเศรษฐกิจรวมถึง :

  • ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายที่มีผลเกี่ยวข้องกับการกักตัวเอง
  • ปัญหาโรคหัวใจเนื่องจากการไม่มีกิจกรรมให้เคลื่อนไหว
  • ปัญหาสุขภาพจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และมาตรฐานการใช้ชีวิตที่แย่ลง
Getty Images

ผลกระทบอื่น ๆ คือทำให้คนเข้าถึงกระบวนการตรวจร่างกายทั่วไป หรือการตรวจหามะเร็ง ล่าช้าไปด้วย

นอกจากนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล บอกว่า แม้ว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ แต่ก็อาจมีผลให้อายุคาดเฉลี่ยของประชากรต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง

นักวิจัยบอกว่า จุดผลักสำคัญ ก็คือ การหดตัวของเศรษฐกิจถึง 6.4% ซึ่งไม่ต่างจากสภาพที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

โดยเฉลี่ย อายุคาดเฉลี่ยของคนในสหราชอาณาจักรจะลดลง 3 เดือน ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่มาตรฐานการใช้ชีวิตที่แย่ลงไปจนถึงระบบสาธารณสุขที่ด้อยคุณภาพลง

มาตรการในปัจจุบันมีเพื่อจำกัดไม่ให้ไวรัสแพร่ระบาดอย่างร้ายแรงที่สุด และเมื่อช่วงที่แย่ที่สุดผ่านไปแล้ว ก็ต้องตัดสินกันอีกทีว่าจะใช้มาตรการอะไรต่อไป

แต่เมื่อไวรัสจะไม่หมดไปง่าย ๆ และต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยหนึ่งปีกว่าจะคิดค้นวัคซีนสำเร็จ ความท้าทายคือเราจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างไร

สิ่งที่ควรคำนึงในระหว่างการปล่อยให้ประเทศกลับคืนสู่สภาพปกติ คือการหาจุดสมดุลระหว่างการพยายามควบคุมไวรัสให้อยู่หมัดกับการควบคุมไม่ให้การแพร่ระบาดพุ่งขึ้นสูงอีกครั้ง

การมองภาพรวมของจำนวนผู้ที่รักษาหายและผู้เสียชีวิตอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง