"ทนายวิญญัติ" จี้ "โฆษก ศบค." ทบทวนบทบาท-คำขู่ปชช.รอคิวรับของแจก ลั่นถ้าไม่อดตาย ไม่ออกมา
โควิด-19 เมื่อวันที่ 20 เมษายน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวประจำวันและให้ความเห็นว่า การที่มีคนมารวมตัวชุมนุมกันเพื่อรับของแจกหรือของบริจาค เป็นการชุมนุมเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่อยากขู่ ว่า กรณีดังกล่าวเป็นความสับสนในการทำหน้าที่หรือไม่
“ดูจะเกินขอบเขต เกินความเหมาะสม ชาวบ้านเขาไม่มีจะกิน ขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคในการเอาชีวิตรอด ความอดอยาก ไม่มีเงิน จนเกิดความเครียด จนทำให้ประชาชนป่วยทางใจ โฆษก ศบค.คงลืมไปแล้วว่า ท่านอ้างว่าตนเคยผ่านความลำบากมาก่อน แต่ทำไมวันนี้จึงไม่เห็นอกเห็นใจคนที่เขากำลังจะอดตาย จนไม่กลัวโรคโควิด-19 แล้ว” นายวิญญัติ กล่าวและว่า เข้าใจบทบาทของโฆษก ศบค. ที่เป็นทั้งแพทย์ เป็นทั้งผู้รักษาเอกภาพในการสื่อสารจากรัฐบาลต่อสาธารณะในภาวะวิกฤตโควิด-19 แต่ควรทำหน้าที่เป็นโฆษก ไม่ใช่มาจับผิดประชาชนที่กำลังอดอยากและคนใจบุญที่ช่วยประชาชนเหล่านั้น
“ผมอยากให้โฆษกฯ พยายามทำความเข้าใจว่า การถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการควบคุมโรคระบาด จะต้องกระทำด้วยความสมเหตุสมผล พอเหมาะ พอควรตามความจำเป็น และมีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือส่วนรวม กับสิทธิของบุคคลที่จะถูกจำกัดสิทธิ ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ เพราะอาจจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความอยู่รอดของประชาชน” นายวิญญัติ กล่าว
ทั้งนี้ นายวิญญัติ กล่าวว่า ที่ประชาชนออกมาต่อแถว เรียงคิวรับสิ่งของบริจาค ก็เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการใช้ข้อกำหนดของ ศบค. ไม่ใช่การชุมนุมรวมตัวที่ไร้สาระ ไร้เหตุผลแต่อย่างใด
“เขาเสี่ยงออกมาก็เพื่อปากท้องของตนเองและครอบครัว ไม่หิว ไม่อดตาย ใครจะอยากออกมา ส่วนผู้ที่ออกมาช่วยเหลือ ก็เพราะทนเห็นคนที่กำลังจะอดตายไม่ได้ ถ้ารัฐทำหน้าที่ตนเองได้ดีตั้งแต่แรก และมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนได้ ภาพความทุกข์ลำบากเช่นนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น โฆษก ศบค.ต้องยอมรับภาพสะท้อนถึงการทำงานของ ศบค. และรัฐบาลว่าประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว” นายวิญญัติ กล่าว