รีเซต

ผงะ! พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ แพร่ระบาด-ต้านทานวัคซีน-กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์

ผงะ! พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ แพร่ระบาด-ต้านทานวัคซีน-กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์
มติชน
31 สิงหาคม 2564 ( 09:48 )
42
ผงะ! พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ แพร่ระบาด-ต้านทานวัคซีน-กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์

 

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม เพจเฟซบุ๊ก ‘หมอแล็บแพนด้า’ ของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความระบุว่า พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ C.1.2 กลายพันธุ์มากสุด ผู้เชี่ยวชาญระบุแพร่ระบาดได้มากกว่าและอาจต้านทานวัคซีนได้มากกว่าทุกสายพันธุ์

 

 

 

ขณะเดียวกัน น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว “ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย” โดยมีข้อความว่า ค้นพบไวรัสก่อโรคโควิดใหม่ล่าสุด กลายพันธุ์มากกว่าทุกสายพันธุ์เกือบ 2 เท่าตัว

 

 

หมอเฉลิมชัย ระบุว่า จากที่ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 เป็นไวรัสสารพันธุกรรมเดี่ยว (RNA) จึงมีการกลายพันธุ์ง่ายและบ่อยเป็นธรรมชาติ

 

 

การที่โลกเราประสบปัญหามากมาย  ในการควบคุมการระบาด และในการวิจัยพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด ก็มีสาเหตุมาจากไวรัสก่อโรคโควิดที่กลายพันธุ์ง่ายและรวดเร็วนี่เอง

 

 

ในขณะนี้ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา กลายเป็นสายพันธุ์เด่นของโลก ระบาดครอบคลุมไปเกือบทุกประเทศ และทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

วงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ต้องเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองเป็นการใหญ่ เพื่อที่จะรับมือกับไวรัสเดลต้า รวมทั้งไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

 

 

การติดตามในแวดวงวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อคอยเฝ้าจับตาไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่อาจดุร้ายหรือรุนแรงกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง และหน่วยงานที่เรียกว่า GISAID ก็ได้ทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด

 

 

ขณะนี้ได้มีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ ตั้งชื่อว่า C.1.2 ซึ่งมีลักษณะเด่นพิเศษคือ มีอัตราความเร็วในการกลายพันธุ์ ( Mutation rate ) มากเป็น 1.7-1.8 เท่าของไวรัสกลายพันธุ์ทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ในขณะนี้

 

 

ทำให้มีการคาดการณ์ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจมีความสามารถในการแพร่ระบาดโรคได้กว้างขวางและรวดเร็วขึ้น มีความสามารถในการต่อต้านกับวัคซีน ทำให้มีประสิทธิผลลดลง และอาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น

 

 

เพราะตำแหน่งของการกลายพันธุ์ มีมากมายหลายตำแหน่ง  (190,215,484,501,655,859) ซึ่งอาจไปเกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ทำให้เกิดผลดังกล่าวได้

 

 

 

 

โดยมีรายละเอียดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังนี้


สถาบันแห่งชาติทางด้านโรคติดต่อของแอฟริกาใต้ (NICD : National Institute for Communicable Diseases) ได้ค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ( C.1.2 ) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ในระหว่างเกิดการระบาดระลอกที่สามของประเทศ
โดยมีการกลายพันธุ์มากมายหลายตำแหน่ง แตกต่างจากไวรัสสายพันธุ์ C.1 และการกลายพันธุ์นั้นก็เพิ่มเติมและห่างไกลจากไวรัสสายพันธุ์หลักเดิมของอู่ฮั่น และไวรัสทุกสายพันธุ์ทั้งในกลุ่ม VOC และ VOI
โดยการกลายพันธุ์นั้นมีอัตรา 41.8 ตำแหน่งต่อปี หรือเกือบสองเท่าของไวรัสสายพันธุ์อื่นที่มีการกลายพันธุ์กัน

 

 

ขณะนี้พบในประเทศแอฟริกาใต้กว่าครึ่งประเทศ และแพร่ไปประเทศต่างๆอีกเจ็ดประเทศประกอบด้วย อังกฤษ จีน นิวซีแลนด์ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ คองโก และมอริเชียส
 
 
 

การกลายพันธุ์ในกลุ่มไวรัสที่น่าเป็นห่วง (VOC) 4 สายพันธุ์คือ อัลฟา เบต้า แกมม่า และเดลตานั้น มีตำแหน่งของการกลายพันธุ์น้อยกว่าของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกือบหนึ่งเท่าตัว จึงต้องติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสชนิดนี้ต่อไปว่า
1.จะมีความสามารถในการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวาง จนสามารถเอาชนะไวรัสสายพันธุ์เดลต้าได้หรือไม่อย่างไร
2.การกลายพันธุ์นั้น จะพัฒนาออกไปนอกตำแหน่งปุ่มหนาม ( Spike region) หรือไม่

 

 

เพราะถ้าพัฒนาออกไปนอกปุ่มหนาม จะทำให้วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเน้นเฉพาะการป้องกันที่ปุ่มหนามแทนที่จะเป็นไวรัสทั้งตัว เช่น mRNA และ Viral vector ก็จะได้รับผลกระทบต่อประสิทธิผลที่จะลดลงเป็นอย่างมาก

 

 


ส่วนสถานการร์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 31 สิงหาคม 64 นั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูล โควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีการติดเชื้อเพิ่ม 14,666 ราย
ติดเชื้อในเรือนจำ 304 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,175,866 รายสะสมทั้งหมด 1,204,729 ราย
หายกลับบ้านได้ 19,245 ราย
สะสม 994,346 ราย
เสียชีวิต 190 ราย
สะสมระลอกสาม 11,495 ราย
สะสมทั้งหมด 11,589 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง