‘สภาธุรกิจตลาดทุนไทย’ เผยความเชื่อมั่นนักลงทุนลดวูบ 16% เหตุกังวลการเมืองในประเทศร้อนแรง
‘สภาธุรกิจตลาดทุนไทย’ เผยความเชื่อมั่นนักลงทุนลดวูบ 16% เหตุกังวลการเมืองในประเทศร้อนแรง
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือนสิงหาคม 2563 ความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 16% มาอยู่ที่ระดับ 85.26 จากระดับ 101.19 โดยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเหมือนเดือนกรกฎาคม แต่มีปัจจัยเปลี่ยนแปลงคือ เมื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) และทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามา นักลงทุนจึงคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือ การฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว และนโยบายภาครัฐ รวมถึงความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปัจจัยรองลงมา คือ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน
นายไพบูลย์กล่าวว่า ผลสำรวจ ณ เดือน กรกฎาคม 2563 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มอยู่ในระดับ “ทรงตัว” โดยความเชื่อมันกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 87.04 ในขณะที่ความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลดลงที่ 83.33 สถาบันในประเทศปรับลดลงที่ 89.47 และนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงที่ 83.33 โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,328.53 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือน มิถุนายน 2563 โดยดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 1,315—1,377 จุด หลังจากภาคธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง ส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/2563 ของภาคธนาคาร ดีกว่าคาดการณ์ การรายงานข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 โดยมีปัจจัยฉุดในบางช่วงจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ
“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงแรงกว่าภาพรวมตลาด โดย Underperform ดัชนีปรับตัวลดลงกว่า 16% ซึ่งถือว่ามากกว่าในหมู่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่ลดลงเพียง 3% ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 5% ตลาดหุ้นจีนเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมากังวลในส่วนของสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอน และมีความร้อนแรงมากขึ้น แม้ประเทศไทยจะมีการดูแลเรื่องการระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่ปัจจัยการเมืองไม่นิ่งกลับมาฉุดความเชื่อมั่นอีกครั้ง รวมถึงนักลงทุนยังรอดูการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งหากประเทศไทยบริหารจัดการได้ดี เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะสามารถพลิกกลับมาบวกได้” นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์กล่าวว่าสำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ การรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งของไทยและทั่วโลกที่อาจแย่กว่าคาดการณ์ การประกาศจีดีพีไตรมาส 2/2563 ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงการระบาดควิด-19 ระลอก 2 ในหลายประเทศ โดยปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกกระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำประเทศที่ต้องจับตาเรื่องการแทรกแซงอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมากำลังทยอยหมดลง และผลจากการผ่อนคลายธุรกิจระยะที่ 6 ที่จะเริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติบางกลุ่มเข้าประเทศไทยได้
นายไพบูลย์กล่าวว่า เฟทโก้จะนำเสนอแผนการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยต่อนายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ในประเด็นการส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออมะระยาวมากขึ้น เนื่องจากในช่วงการระบาดโควิด-19 ประชาชนมีการออมเงินน้อย หากใช้มาตรการด้านภาษี คาดว่าจะช่วยให้เกิดการออมเพิ่ม รวมถึงจะเสนอให้ต่ออายุกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (เอสเอสเอฟ) อีก 10 ปี และเสนอให้ลดระยะเวลาการถือครองเอสเอสเอฟ และเอสเอสเอฟเอ็กซ์ จาก 10 ปี เหลือ 7 ปี เนื่องจากที่ผ่านมามีเงินเข้ามาลงทุนค่อนข้างน้อยมาก เชื่อว่าระดับ 7 ปี น่าจะมีความเหมาะสม และน่าจะสร้างเงินลงทุนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเสนอการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินปันผลหากถือครองหุ้นระยะยาวเหมือนกับประเทศจีน หากมีการถือครองหุ้นระยะ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินปันผลหรือไม่เสียภาษีเงินปันผล
นายไพบูลย์กล่าวว่า นอกจากนี้ ต้องการให้ยกระดัตลาดทุนไทยสู่ระดับภูมิภาค เปิดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยได้ เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น การออกตราสารเงินสกุลต่างประเทศ และการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดทุนได้มากขึ้น พร้อมกับเสนอให้ภาครัฐเข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนเพิ่ม เช่น การออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อระดมทุนมาใช้ในการพัฒนาประเทศ เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้น หลังจากมีการกู้เงินเพื่อมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังอยากให้ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างภาคตลาดทุนและภาครัฐมากขึ้นเป็นรายไตรมาส รวมถึงผลักดันพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดการออม