13 พ.ค. ถกวงเล็ก ศบค.ลงรายละเอียด 'เฟส 2' ก่อนชง 'บิ๊กตู่' เคาะ ให้ 77 จว.รับไม้ต่อ
13 พ.ค. ถกวงเล็ก ศบค.ลงรายละเอียด ‘เฟส 2’ ก่อนชง “บิ๊กตู่” เคาะ ให้ 77 จว.รับไม้ต่อ
โควิด-19 ความคืบหน้ากรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เตรียมประกาศมาตรการผ่อนปรนการคุมควบคุมการแพ่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในส่วนของ สธ.ดำเนินการตามกรอบระยะเวลาของ ศบค. คือ ระหว่างวันที่ 8-12 พฤษภาคม เป็นช่วงรับฟังความคิดเห็น โดยประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงอื่นๆ หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบกิจการ รวมถึงภาคประชาสังคม และในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานประสานกลางของ ศบค. จะมีการประชุมรับทราบผลของการรับฟังความคิดเห็น
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ทาง สธ. โดย นพ.สุขุม กาญจพิมาย ปลัด สธ.จะเข้าประชุมในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และการสาธารณสุข (ศปก.สธ.) เพื่อร่วมพิจารณาเตรียมข้อเสนอต่างๆ และในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุม ศบค. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ร่วมกับกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเสนอมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ในรายละเอียด เพื่อกำหนดมาตรการผ่อนปรนในการดำเนินการต่อไป
“ทาง สธ.ไม่ได้มีข้อเสนอชี้ชัดใด แต่มีหลักการ/หลักเกณฑ์ในการป้องกันควบคุมโรค ซึ่งนำมาใช้เป็นกรอบในการพิจารณาจัดทำข้อเสนอมาตรการฯ และการผ่อนปรนนั้นไม่สามารถทำได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จะต้องประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย คือ 1.ผู้ประกอบกิจการหรือผู้ดำเนินกิจกรรม 2.ผู้เข้ารับบริการกิจการ/ร่วมกิจกรรม และ 3.ผู้ติดตามกำกับ ประเมินผลตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย โดยจะต้องร่วมมือกัน เช่น หากเจ้าของกิจการดำเนินตามมาตรการได้ดี แต่ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคขณะใช้บริการ จะส่งผลให้มาตรฐานที่ดำเนินตามมาตรการนั้นไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ทาง สธ.มีหลักการ/หลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.พฤติกรรมของบุคคลในการเข้าใช้บริการ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การหมั่นล้างมือ การแยกใช้ของส่วนตัว การเว้นระยะห่างทางกายภาพและจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าใช้บริการในระยะเวลาที่มีความแออัด 2.ผู้ประกอบการ จะต้องมีมาตรการการเว้นระยะห่างทางกายภาพ 1-2 เมตร ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ และในบางกิจการอาจจะมีข้อจำกัดด้านสถานที่ที่แตกต่างกันออกไป ผู้ประกอบการจึงมีหน้าที่นำหลักการ/หลักเกณฑ์ไปปรับใช้โดยยึดในเรื่องของการป้องกันโรคเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากอาจจะมีผู้ที่มีเชื้อไวรัสในร่างกายแต่ไม่แสดงอาการ ปะปนเข้าไปใช้บริการในสถานประกอบการนั้นๆ ได้ และ 3.การกำหนดมาตรการหลัก/มาตรการเสริม โดยผู้กำกับติดตามและประเมิน เช่น ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข อาจจะต้องมีการสนธิกำลังกับภาคประชาชนแต่ละพื้นที่ที่จะเข้าไปกำกับกิจการ/กิจกรรมที่เปิดบริการมีความเสี่ยงที่น้อยที่สุด
นอกจากนี้ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ภาพโดยรวมของการใช้มาตรการผ่อนปรน ศบค. จะเป็นผู้ออกข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด นำข้อกำหนดไปพิจารณาเพื่อออกเป็นประกาศใช้ในพื้นที่ต่างๆ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ในแต่ละจังหวัดสามารถใช้มาตรการออกประกาศที่มีความเข้มข้นตามสถานการณ์ความเสี่ยง หรือสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคในพื้นที่นั้นๆ ได้
“โดยทาง กทม. ได้มีผู้แทนเข้าร่วมกำหนดมาตรการ เนื่องจาก กทม.มีประชากรมากที่สุด มีกิจการ/กิจกรรมมากที่สุด ดังนั้นจึงจะต้องมีผู้แทนจาก กทม. เข้ามาให้ข้อมูล เพื่อให้สิ่งที่จะดำเนินการนั้นปฏิบัติได้จริงและเหมาะสม” นพ.สุวรรณชัย กล่าว