ก.แรงงาน เอ็มโอยู 6 กลุ่มบริษัทจัดหางาน เพิ่มช่องทางเข้าถึงงานกว่า 2 แสนตำแหน่ง
ก.แรงงาน เอ็มโอยู 6 กลุ่มบริษัทจัดหางาน เพิ่มช่องทางเข้าถึงงานกว่า 2 แสนตำแหน่ง
วันที่ 30 มิถุนายน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดหางาน ระหว่าง กรมการจัดหางาน (กกจ.) และบริษัทจัดหางาน ภายใต้กิจกรรม “สานพลังประชารัฐสู้ภัยโควิด – 19 เพื่อคนไทยมีงานทำ”
ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวภายหลังเป็นสักขีพยานในการลงนามดังกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะการจ้างงาน ภาคธุรกิจหลายแห่งปิดกิจการ ประชาชนถูกเลิกจ้าง กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับประชาชน จึงเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ว่างงาน ให้สามารถกลับมามีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้
“การจัดกิจกรรมฯ ครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือด้านการจัดหางานระหว่างกรมการจัดหางาน และบริษัทจัดหางาน 6 แห่ง ได้แก่ บริษัทจัดหางาน แมนพาวเวอร์ โปรเฟสชั่นแนล แอนด์ เอ็กเซ็กคูทีฟ จำกัด บริษัท อเด็คโก้ คอนซัลติ้ง จำกัด บริษัทจัดหางาน เคลลี่ เซอร์วิสเซส สต๊าฟฟิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทจัดหางาน จ็อปท็อปกัน จำกัด บริษัทจัดหางาน จ๊อบบีเคเค ดอท คอม จำกัด และ บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว
ด้าน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดี กกจ. กล่าวว่า เอ็มโอยูนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เข้าถึงแหล่งการจ้างงานที่หลากหลาย มีคุณภาพ เป็นการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งงาน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสคัดเลือกตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับความรู้ ความถนัด และประสบการณ์สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวบรวมตำแหน่งงานว่างเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการตลาดแรงงานของประเทศ โดยสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มบริษัทจัดหางาน ที่เคยสร้างความร่วมมือด้านการจัดหางาน เมื่อปี 2559 และ ปี 2560
นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับแนวทางความร่วมมือ กกจ. และบริษัทจัดหางานทั้ง 6 แห่ง จะมีการแลกเปลี่ยนป้ายประกาศ หรือ Banner เพื่อนำไปติดตั้งบนเว็บไซต์ SMARTJOB และบริษัทจัดหางาน เพื่อประชาสัมพันธ์การให้บริการของทั้งสองฝ่าย ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งงานได้ทันที ทางด้าน บริษัทจัดหางานทั้ง 6 แห่ง จะสนับสนุนวิทยากรบรรยายให้ความรู้ด้านแรงงาน และข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อให้ กกจ.ได้รวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานว่างทั้งหมดมาประมวลผล และนำไปวิเคราะห์ความต้องการแนวโน้มตลาดแรงงานของประเทศ
“ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงตำแหน่งงานที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีคุณภาพ ทั้งตำแหน่งงานของภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งจะครอบคลุมผู้มีทักษะตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับสูง โดยตำแหน่งงานที่หน่วยงานภาครัฐได้รับแจ้งในขณะนี้ มีจำนวน 59,600 ตำแหน่ง ขณะที่ ตำแหน่งงานว่างที่ภาคเอกชนได้รับแจ้ง มีจำนวน 143,300 ตำแหน่ง การลงนามความร่วมมือนี้ จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงตำแหน่งงานว่างได้ถึงกว่า 202,900 ตำแหน่ง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แรงงานได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานได้โดยเร็วแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอีกทางหนึ่งด้วย” นายสุชาติ กล่าว