รีเซต

ทะเลจีนใต้สำคัญอย่างไร และจีนมีแผนการอะไรต่อไปในการครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณนี้

ทะเลจีนใต้สำคัญอย่างไร และจีนมีแผนการอะไรต่อไปในการครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณนี้
บีบีซี ไทย
16 กรกฎาคม 2563 ( 10:32 )
367
ทะเลจีนใต้สำคัญอย่างไร และจีนมีแผนการอะไรต่อไปในการครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณนี้

Getty Images
เมื่อปี 2019 คนฟิลิปปินส์ออกมาประท้วง "พฤติกรรมอันก้าวร้าว" ของจีนในทะเลจีนใต้

แม้ปัจจุบันจีนกำลังเผชิญกับปัญหาที่รุมเร้า ทั้งเรื่องโรคโควิด-19 ระบาด สงครามการค้ากับสหรัฐฯ กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง และปัญหาทางเศรษฐกิจอีกมากมาย แต่เรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ กำลังเป็นประเด็นร้อนที่จุดชนวนความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาคอีกครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

BBC

ในบทความนี้ นายอเล็กซานเดอร์ นีล ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจากสิงคโปร์ จะวิเคราะห์ถึงแผนการขั้นต่อไปของจีนในการแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นปมขัดแย้งกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน

ทะเลจีนใต้ ถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในภูมิภาค และหลายประเทศต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะและแนวปะการังเพื่อเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในน่านน้ำแถบนี้

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนแสดงท่าทีแข็งกร้าวขึ้นในการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ อีกทั้งยังเร่งก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ และเสริมกำลังทหารเพื่อยืนยันคำกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของอาณาเขตในแถบนี้

ครั้งหนึ่ง พลเรือเอกแฮร์รี แฮร์ริส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก เคยเปรียบการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ว่าเป็น "กำแพงทรายแห่งเมืองจีน" (Great Wall of Sand) ซึ่งหมายถึงแผนที่ "เส้นประ 9 เส้น"(nine-dash line) ที่จีนลากขึ้นมาบอกอาณาเขตของตนในทะเลจีนใต้

BBC

จีนและสหรัฐฯ มักออกมาแลกคำวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเผ็ดร้อนในเรื่องทะเลจีนใต้ แต่หากพูดโดยรวมแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีแนวทางจัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่แตกต่างกัน

แม้จะมีความขัดแย้งทางด้านการค้า แต่ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ทำเพียงการเรียกร้องเสรีภาพการเดินเรือในเขตน่านน้ำสากลในทะเลจีนใต้ และมักจะหลีกเลี่ยงการเลือกข้างในกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 ระบาด ผู้นำชาติตะวันตกหลายประเทศดูเหมือนจะเริ่มคล้อยตามคำพูดของนายปอมเปโอ ที่ว่าจีนกำลังฉวยโอกาสใช้วิกฤตโรคระบาดในการแสดงพฤติกรรมที่เป็นการขู่เข็ญคุกคามมากขึ้นในประเด็นต่าง ๆ และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นนี้ก็กำลังเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้

ความตึงเครียดทางทหารในห้วงเวลาที่น่าเป็นห่วง

เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.เรือตรวจการชายฝั่งของจีนได้พุ่งชนและจมเรือประมงเวียดนามบริเวณใกล้กับหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งทั้งสองประเทศต่างอ้างว่าเป็นของตน

จากนั้น โครงการสำรวจน้ำมันของมาเลเซียก็ถูกเรือสำรวจทางทะเลของจีนเข้าขัดขวางการทำงานบริเวณนอกชายฝั่งเกาะบอร์เนียว

เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้สหรัฐฯ ส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินจู่โจม USS Nimitz และ USS Ronald Reagan เข้าไปในน่านน้ำใกล้เคียง พร้อมกับเรือฟริเกตของออสเตรเลีย

จากนั้นสถานการณ์ได้ทวีความตึงเครียดขึ้น จากการที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเรือพิฆาตติดอาวุธปล่อยนำวิถี USS Bunker Hill และ USS Barry เข้าไปบริเวณหมู่เกาะพาราเซล และหมู่เกาะสแปรตลีย์

เรือรบทั้งสองลำได้ปฏิบัติภารกิจรักษาเสรีภาพการเดินเรือ (Freedom of Navigation Operation - FONOP) เพื่อท้าทายสิ่งที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นรูปแบบการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจีนในเขตน่านน้ำสากล

เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนได้ปิดน่านน้ำขนาดใหญ่รอบหมู่เกาะพาราเซล เพื่อปฏิบัติการซ้อมรบทางทะเล ทำให้สหรัฐฯ ออกมากล่าวอย่างไม่พอใจว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดคำมั่นสัญญาที่จีนเคยให้ไว้ว่าจะไม่กระทำการใด ๆ ที่จะทำให้ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ทวีความรุนแรงขึ้น

การท้าทายกันไปมาระหว่างมหาอำนาจทางทหารทั้งสองชาตินี้ทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความอันตรายอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากการที่จีนแสดงพฤติกรรมอันแข็งกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ ต่อประเด็นที่จีนมองว่าเป็น "ความกังวลหลัก" ของประเทศ

เป้าหมายในทะเลจีนใต้ของจีนคืออะไร

รัฐบาลจีนมองว่าทะเลจีนใต้เป็นส่วนสำคัญในอาณาเขตทางทะเลของตน โดยไม่เพียงจะใช้เป็นปราการเพื่อยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางทะเล แต่ยังเป็นประตูสู่เส้นทางสายไหมทางทะเลในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย

นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังมีความสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของแผนพัฒนาเศรษฐกิจโครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong -Hongkong-Macao Geater Bay Area)

แผนการของจีนในการอพยพประชากรเข้าไปตั้งถิ่นฐานในทะเลจีนใต้เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2012 หลังจากนครซานชา (Sansha City) ซึ่งเป็นศูนย์อำนวยการบริหารโครงการที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์บนเกาะวู้ดดี้ หรือเกาะหย่งซิง ในหมู่เกาะพาราเซล ได้รับการยกสถานะจากเขตการปกครองระดับอำเภอ ขึ้นเป็นระดับจังหวัด

รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนชุมชนชาวประมงที่เมืองแห่งนี้ให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยอันทันสมัย มีการสร้างโรงเรียนประถม ธนาคาร โรงพยาบาล และมีการติดตั้งระบบสื่อสารโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งยังมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขนานนามว่า "มัลดีฟส์แดนมังกร"โดยมีเรือสำราญพานักท่องเที่ยวไปเยือนอยู่เป็นประจำ

Getty Images
นักท่องเที่ยวจีนเชิญธงชาติจีนขึ้นที่หมู่เกาะพาราเซล

ส่วนแผนการระยะที่ 2 ได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยจีนได้ก่อตั้งเขตบริหารระดับอำเภออีก 2 เขตที่อยู่ภายใต้การปกครองของนครซานชา ซึ่งมีหน้าที่บริหารอาณาเขตที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะสแปรตลีย์

6 ปีหลังจากจีนเริ่มสร้างเกาะเทียมบนแนวปะการังหลายแห่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ภาพถ่ายจากดาวเทียมและการสอดแนมทางอากาศได้เผยให้เห็นหนึ่งในความสำเร็จทางวิศวกรรมสมุทรศาสตร์ และสิ่งปลูกสร้างทางทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก

โดยนอกจากสิ่งปลูกสร้างทางการทหารบนเกาะ ซึ่งรวมถึงทางวิ่งเครื่องบินยาว 3,000 เมตร ท่าเทียบเรือ โรงเก็บเครื่องบิน คลังเก็บอาวุธ ฐานยิงขีปนาวุธ และสถานีเรดาร์แล้ว ภาพถ่ายทางอากาศยังเผยให้เห็น อาคารที่พักอาศัย ตึกที่ทำการของรัฐบาลท้องถิ่น โรงพยาบาล หรือแม้แต่ศูนย์กีฬา ที่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบอยู่บนเกาะเทียมที่ปัจจุบันเริ่มมีความเขียวขจีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

แนวปะการังซูบี (Subi Reef) ถูกแปลงสภาพเป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีทั้งสวนปลูกผลไม้และพืชผักต่าง ๆ ซึ่งใช้ฝูงผึ้งที่นำมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ในการช่วยผสมเกสร นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงหมู สัตว์ปีก และบ่อเลี้ยงปลา

ในขณะที่สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนได้เข้าไปตั้งศูนย์วิจัยด้านสมุทรศาสตร์บนแนวปะการังมิสชีฟ (Mischief Reef) เมื่อเดือน ม.ค. 2019

คณะนักอุทกวิทยาชั้นนำของจีนประกาศว่า ระดับน้ำบาดาลที่แนวปะการังไฟเออรี ครอสส์ (Fiery Cross Reef) ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจะกลายเป็นแหล่งน้ำที่ผู้คนสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้อย่างพอเพียงภายในเวลา 15 ปี

ประชากรบนเกาะแห่งนี้ มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ 5G ใช้กันแล้ว และพวกเขาก็มีพืชผักผลไม้สดที่นำเข้ามาในตู้คอนเทนเนอร์เย็นให้ได้รับประทานกันไม่ต่างจากคนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่

ภาพถ่ายทางอากาศยังเผยให้เห็นกองเรือประมงขนาดใหญ่จอดอยู่ที่แนวปะการังซูบี และแนวปะการังไฟเออรี ครอสส์

บางทีในอีกไม่นาน ครอบครัวชาวประมงอาจเข้าไปตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ตามหมู่เกาะทางใต้สุดของจีน ที่ซึ่งลูกหลานของพวกเขาจะได้เรียนหนังสือร่วมกับลูกของบรรดาเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลท้องถิ่นก็เป็นได้

สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าจีนได้เคลื่อนไปสู่ระยะที่ 2 ของแผนการอันแยบยลในการสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์ทางทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กลายเป็นของจีนอย่างถาวร

Getty Images
ภาพมุมสูงของเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นบนแนวปะการังไฟเออรี ครอสส์ (Fiery Cross Reef)

การซ้อมรบในทะเลจีนใต้ครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายในการแสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ของสหรัฐฯ ที่จะปกป้อง "เสรีภาพแห่งท้องทะเล" เพื่อให้กองทัพเรือสหรัฐฯ สามารถเข้าไปปฏิบัติการและปกป้องน่านน้ำสากลในแถบนี้ได้

ขณะเดียวกันคำประกาศของนายปอมเปโอที่ว่า การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทรัพยากรในทะเลจีนใต้ของจีนเป็น "เรื่องผิดกฎหมายอย่างสิ้นเชิง" นั้น ได้ทำให้เกิดคำถามว่าสหรัฐฯ เตรียมจะทำอะไรต่อไปเกี่ยวกับเรื่องนี้

อย่างน้อยที่สุด นายปอมเปโอคงต้องการสร้างแนวร่วมทางการทูตเพื่อทัดทานกับการกระทำของจีน ซึ่งไม่ได้หมายเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นคู่พิพาทในทะเลจีนใต้ แต่หมายถึงชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ด้วย

แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็อาจทำลายเขตบริหารแห่งใหม่ในทะเลจีนใต้ของจีน ให้กลายสภาพเป็นเพียงซากคอนกรีตบนซากแนวปะการังได้โดยฉับพลัน แต่นี่ก็อาจนำไปสู่สงครามที่ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง