ทช.โชว์ขยายถนนทางเข้าวัดป่าบ้านตาด คืบหน้าเกินครึ่ง หนุนท่องเที่ยวในพื้นที่ คาดแล้วเสร็จ ก.ย.นี้
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า จากนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้สั่งการให้ ทช.ดำเนินภารกิจยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบท ส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่งการท่องเที่ยว เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้รับหนังสือขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 – พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
เพื่อเป็นการรองรับปริมาณการจราจรของพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาสักการะบูชาพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เนื่องจากเป็นสถานที่สำคัญและมีชื่อเสียงในจังหวัด ทช.จึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 – พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ระยะทางรวม 7.395 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 333.466 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
ช่วง กม.ที่ 0+000 เชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (กม.ที่ 447) รูปแบบโครงการเป็นถนนผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร
ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 1+100 (กรณีเขตทาง 60 เมตร) รูปแบบโครงการเป็นถนนผิวจราจร แอสฟัลท์ติกคอนกรีต 4 – 6 ช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์ภูมิสถาปัตยกรรมบริเวณเกาะกลางและวงเวียน
ช่วง กม.ที่ 1+100 ถึง กม.ที่ 7+395 (กรณีเขตทาง 20 – 30 เมตร) รูปแบบโครงการเป็นถนนผิวจราจร
แอสฟัลท์ติกคอนกรีต 4 ช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 – 2.50 เมตร
อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ทช.ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบภูมิทัศน์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ความสวยงาม เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนตั้งแต่จุดเริ่มต้นสายทาง ซึ่งได้กำหนดให้มีจุดพักคอยหรือจุดนัดพบ บริเวณต้นทางขาเข้าและปลายทางขาออกของโครงการ พร้อมก่อสร้างทางเท้ากว้าง 5 เมตร รองรับผู้พิการ ศาลาพักคอยผู้โดยสาร รวมถึง ได้มีการตกแต่งภูมิทัศน์ จัดให้มีไม้พุ่มดอก จัดวางในกระถางคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นช่วง ๆ และได้มีการประดับด้วยต้นถั่วบราซิลดอกเหลืองสวยงามตลอดสายทาง ตลอดจนได้มีการนำต้นไม้ประจำจังหวัดอย่างต้นทองกวาวที่มีดอกสดสีแดงปลูกเพื่อกันแนวเขตที่ดินของสายทางอีกด้วย