รีเซต

'แบงก์ชาติ' มองโอมิครอนกระทบศก.ไทย ไตรมาสแรกปี 65 คาดครึ่งปีหลังนทท.กลับมาคึกคัก

'แบงก์ชาติ' มองโอมิครอนกระทบศก.ไทย ไตรมาสแรกปี 65 คาดครึ่งปีหลังนทท.กลับมาคึกคัก
มติชน
30 ธันวาคม 2564 ( 17:32 )
89

ข่าววันนี้ 30 ธันวาคม นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน จะยังไม่ส่งผลที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทยเดือนธันวาคม และภาพรวมของไตรมาส 4/64 โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะในปี 64 จะยังขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียงกับที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0.9%

 

ทั้งนี้ การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน อาจจะส่งผลกระทบในช่วงไตรมาสที่ 1/65 อย่างไรก็ตาม มีการมองแล้วว่านักท่องเที่ยวเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในครึ่งปีแรกอยู่แล้ว แต่ทาง ธปท. ยังคงเฝ้าระวังจับตาการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กนง. ได้รวมปัจจัยเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อาจได้รับผลกระทบไว้แล้วในการประมาณการของปี 65 ที่ล่าสุดปรับลดลงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมาอยู่ที่ 3.4% จากเดิมที่ 3.9%

 

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างช้า ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง อยู่เหนือระดับก่อนการระบาดโควิดแล้ว จึงมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทาง ธปท. ได้มีการปรับนโยบายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ตอนนี้มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของประชาชนในระยะต่อไปได้

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน ที่ทยอยคลี่คลายลง สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ทั้งนี้อุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง