รีเซต

ยอดใช้รถอีวี โตก้าวกระโดด หนุนไทยเป็นฐานผลิตของอาเซียน

ยอดใช้รถอีวี โตก้าวกระโดด หนุนไทยเป็นฐานผลิตของอาเซียน
TNN Wealth
4 กันยายน 2564 ( 15:50 )
276
ยอดใช้รถอีวี โตก้าวกระโดด หนุนไทยเป็นฐานผลิตของอาเซียน

ข่าววันนี้ นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ยอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) ในไทยโตอย่างก้าวกระโดด และมีปริมาณการใช้สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยเฉพาะใน 7 เดือนแรกของปี 2564 ที่อยู่ในภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่ยอดการซื้อรถอีวี ก็เพิ่มขึ้นมากจนสูงกว่ายอดรวมในปีที่ผ่านมาทั้งปี ทำให้มั่นใจว่าหลังโควิด-19 คลี่คลาย จะเป็นเทรนสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

 
 
โดยในส่วนของรัฐบาล ก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้ยกให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อให้ไทยก้าวผ่านการเป็นฐานการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่การเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้
 
 
 
ดังนั้นจึงได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งได้กำหนดกรอบแนวทาง เตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่สำคัญในแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศตามนโยบาย 30/30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
 
 
 
โดยมีกำลังการผลิตรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิต ในปี 2573 (ปี ค.ศ. 2030) ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต เนื่องจากปัจจุบัน หลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และประเทศต่างๆในทวีปยุโรป ได้กำหนดเป้าหมายและมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมรถอีวี
 
 
 
หนุนผลิตรถอีวี 1.43 ล้านคัน ในปี 73
 
สำหรับประเทศไทย ได้มีการกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้รถอีวี โดยกำหนดให้ภายในปี 2573 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุกจะมีการผลิตทั้งสิ้น 34,000 คัน รวมแล้วจะมีจำนวนทั้งสิ้น 1.43 ล้านคัน
 
 
 
สำหรับมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) ปี 2564 - 2565 นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ
 
 
 
ระยะที่ 2 ปี 2566 - 2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกและถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตในระดับ Economy of Scale
 
 
 
ระยะที่ 3 ปี 2569 – 2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย
 
 
 
ปูพรมตู้ชาร์จไฟฟ้า 1.2 หมื่นหัวจ่าย
 
 
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศภายในปี 2573 สำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะในลักษณะ Fast Change หรือ ชาร์จเร็ว จะมีจำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง
 
 
 
รวมทั้งยังได้กำหนดมาตรการส่งเสริมทางการเงินและภาษี การกำหนดมาตรฐานเพื่อความปลอดภัย โดยจะบูรณาการให้เข้ากับระบบสมาร์ทกริด รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ ได้พิจารณาจากแผนการผลิตของภาคเอกชน เพื่อกำหนดเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับการผลิตรถที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากการใช้งาน หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในประเทศ
 
 
ขณะเดียวกัน ยังได้หารือกับภาคเอกชน เพื่อกำหนดมาตรการด้านภาษีมุ่งเน้นให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
 
 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง