‘โควิด19’ ขวิด ลูกหนังกระทิงดุขนาดไหน แล้วใครเจ็บมากน้อยเท่าไหร่?
ลาลีก้า สเปน ลีกฟุตบอลสูงสุดแห่งแดนกระทิงดุเป็นหนึ่งในหลายๆ ลีกของยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ละสโมสรได้รับผลกระทบมากน้อยต่างกันไป ซึ่งจนถึงตอนนี้ฟุตบอลสเปนก็ยังคงไม่สามารถกลับมาแข่งขันกันได้
จากการที่ไม่มีฟุตบอลลงเล่นก็เท่ากับว่าสโมสรนั้นเสียรายได้ในส่วนของ การขายตั๋วเข้าชมเกม การขายสินค้าที่ระลึก การทัวร์สนามและเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น
ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดสดนั้นก็ยังไม่แน่นอน เพราะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะกลับมาแข่งขันจนจบฤดูกาลได้ หรือจะต้องยุติการแข่งขันเอาไว้เพียงเท่านี้
ซึ่งถ้าหากว่าฟุตบอลลาลีก้ากลับมาแข่งขันกันได้ ก็จะเป็นการแข่งขันในสนามปิด แน่นอนว่าทุกทีมจะเสียรายได้จากค่าเข้าชม แต่ก็จะได้ค่าลิขสิทธิ์แทน ซึ่งกับบางทีมนั้นเงินค่าลิขสิทธิ์ถือว่าเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ
อย่างไรก็ตาม ทุกทีมนั้นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่เท่ากัน ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าใครเสียหายมาก เสียหายน้อยกันแค่ไหน
สโมสรได้รับผลกระทบหนักสุด
บาร์เซโลน่า จัดว่าเป็นทีมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะว่าค่าเหนื่อนของนักเตะในทีมนั้นมากที่สุดในลีกสเปน นั่นเป็นสาเหตุที่ยอดทีมจากแคว้นกาตาลุนญ่า จำเป็นต้องขอลดค่าเหนื่อยนักเตะ 70 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งนักเตะก็ยอมโดยดี เพราะแค่ค่าเหนื่อยของ ลิโอเนล เมสซี่ แข้งเบอร์ 1 ของโลกเพียงคนเดียวก็ปาเข้าไป 8.3 ล้านยูโรต่อเดือน (ราว 293 ล้านบาท)
สโมสรที่สามารถรับมือกับผลกระทบได้ดี
คงต้องบอกว่า “ราชันชุดขาว” รีล มาดริด สามารถยกให้เป็นทีมที่รับมือกับโควิด-19 ได้ดีที่สุด เพราะว่าช่วง 2-3 ฤดูกาลที่ผ่านมา ทีมราชันชุดขาวออมเงินสำรองเอาไว้เผื่อต้องเจอสถานการณ์ลำบาก แม้จะไม่ได้หวังให้มันเกิดขึ้นก็ตาม แต่กลายเป็นว่าเงินตรงนี้ช่วยทีมเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าลาลีก้า กับ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ไม่สามารถกลับมาแข่งขันกันได้จนจบฤดูกาล ทีมราชันชุดขาวเองก็คงจะโดนผลกระทบหนักมากขึ้นเท่ากับทีมอื่นๆ ได้เช่นกัน
ขณะที่สโมสรเล็กๆ อย่างพวก เออิบาร์, เซลต้า บีโก้ หรือเลกาเนส ก็มีสถานะทางการเงินที่ปลอดภัย สามารถกันงบประมาณไว้ซื้อ-ขายนักเตะได้ในช่วงเปิดตลาดซื้อขาย
เช่นเดียวกับ แอธเลติก บิลเบา, บียาร์รีล, เซบีย่า และรีล โซเซียดัด ต่างก็ดำเนินงานด้านการเงินได้ดีมาก รวมถึง รีล มายอร์ก้า และ โอซาซูน่าที่คาดว่าจะรับมือกับวิกฤตนี้ได้โดยไม่เจอกับปัญหาใหญ่ๆ
สโมสรที่ต้องจับตาสถานการณ์ของลีก
เกตาเฟ่, รีล เบติส, กรานาด้า, เลบันเต้, อลาเบส และรีล บายาโดลิด รายชื่อเหล่านี้คือทีมที่จะได้รับผลกระทบถ้าหากว่าฟุตบอลไม่สามารถกลับมาเตะได้จนจบฤดูกาล ที่จะทำให้พวกเขาขาดรายได้ถึง 100 ล้านยูโร ซึ่งแผนสำรองที่วางเอาไว้คือการเตรียมลดค่าเหนื่อยนักเตะในทีมไว้นั่นเอง
สโมสรที่รับผลกระทบจากค่าเหนื่อยและหนี้สิน
สโมสรเหล่านี้ได้แก้ บาร์เซโลน่า, แอตเลติโก มาดริด, บาเลนเซีย รวมถึงเอสปันญ่อล เนื่องจากว่ามีค่าเหนื่อยนักเตะที่สูง แถมยังมีหนี้ก้อนโตกันอีกด้วย ทุกทีมตรงนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ เพียงแต่ก็มีภาระหนี้สินที่ไม่สมดุลกับรายรับ
สิ่งที่ทุกทีมกำลังทำคือการปรับโครงสร้างบัญชีใหม่ ควบคุมภาระหนี้สิน อย่างไรก็ตามสโมสรฟุตบอลยังพอจะการันตีรายได้ในอนาคตได้ อย่างเช่นบาร์เซโลน่า ที่จะมีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ามาถ้าปรับปรุงสนามเสร็จสมบูรณ์
จะเกิดอะไรขึ้นหากเตะไม่จบฤดูกาล?
หลายทีมเช่น โอซาซูน่า, รีล มายอร์ก้า, บียาร์รีล, เซบีย่า และรีล โซเซียดัด รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ถ้าหากฤดูกาลไม่สามารถจบลงตามปกติ ทีมเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าทีมอื่น
รวมถึงอลาเบส และรีล บายาโดลิด ทีมีภาระหนี้สินก้อนโต ถ้าบอลกลับมาเตะไม่ได้ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน
จะมีอยู่เพียงไม่กี่ทีมที่จะเอาตัวรอดจากช่วงวิกฤติไปได้ถ้าหากว่าฟุตบอลกลับมาแข่งไม่จบ ก็คือ รีล เบติส, เกตาเฟ่, กรานาด้า และเลบันเต้
สถานการณ์ของเซกุนด้า หรือ ลาลีก้า สมาร์ทแบงก์
ทีมในเซกุนด้านั้นไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าลาลีก้า เพราะว่าค่าเหนื่อยของนักเตะอยู่ในระดับไม่สูงมาก และไม่ได้พึ่งเงินถ่ายทอดสด เพียงแต่จะขาดรายได้จากค่าบัตรเข้าชมและการขายสินค้าที่ระลึกไปเท่านั้น
ตอนนี้ยังไม่มีสโมสรไหนในเซกุนด้าที่อยู่ในจุดอันตราย แต่ถ้าหากเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยงนั้นก็ยังมีมาตรการรองรับ เช่น ยื่นเรื่องทำข้อบังคับการจ้างงานชั่วคราว หรือ ERTE กับทางรัฐบาล เพื่อขอระงับการจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะชั่วคราว
สำหรับ ERTE ก็คือกฎหมายใหม่ที่รัฐบาลสเปนออกมาเพื่อช่วยอุ้มชูบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายในประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถยกเลิกการจ้างงานได้ชั่วคราว หรือ ลดชั่วโมงการทำงานลงตั้งแต่ 10-70 เปอร์เซ็นต์ด้วยเหตุสุดวิสัย เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้น
ปัจจุบันยังไม่มีสโมสรไหนที่ต้องล้มลงด้วยสภาพทางการเงินที่วิกฤต แต่หากโควิดยังไล่ขวิดในประเทศสเปนอยู่เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่แน่อาจมีบางสโมสรที่ประคับประคองตัวไม่ไหวก็ได้
โดยเฉพาะสโมสรที่มีค่าเหนื่อยนักเตะสูง และมีภาระหนี้สินมาก ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการล้มละลายสำหรับสโมสรนั้นๆ เลยก็เป็นได้
สิ่งสำคัญที่ทุกสโมสรทำในตอนนี้คือการรัดเข็มตัวเองให้แน่นเท่าที่ทำได้ และภาวนาให้ไวรัสตัวร้ายนี้มลายหายสิ้นไปในเร็ววัน เพื่อให้วงการลูกหนังในสเปนกลับมาสร้างความสนุก ตื่นเต้น เร้าใจแก่บรรดาคอบอลที่กำลังคอตกอยู่อีกครั้งหนึ่ง