รีเซต

สธ.คงเตือนภัยโควิดระดับ 4 ประเมิน 14 วันหลังสงกรานต์ คาดป่วยหนักพีคสุดต้น พ.ค.

สธ.คงเตือนภัยโควิดระดับ 4 ประเมิน 14 วันหลังสงกรานต์ คาดป่วยหนักพีคสุดต้น พ.ค.
มติชน
18 เมษายน 2565 ( 15:45 )
49
สธ.คงเตือนภัยโควิดระดับ 4 ประเมิน 14 วันหลังสงกรานต์ คาดป่วยหนักพีคสุดต้น พ.ค.

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ภายหลังเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์ ว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีแนวโน้มลดลง ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ ที่ติดเชื้อใหม่ลดลงจากสัปดาห์ละ 2 ล้านราย เหลือ 1 ล้านราย ส่วนตัวเลขผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตยังสูง เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้ ไปจนถึงเวียดนาม ญี่ปุ่น โดยประเทศรอบบ้านเรา เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ยังติดเชื้อวันละหลักหมื่นรายด้วย

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ข้อมูลสัปดาห์ที่ 15 ระหว่างวันที่ 9-16 เมษายน 2565 ดูเหมือนสถานการณ์เริ่มลดลง หลังจากที่พีคไปช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่การเสียชีวิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ อัตราติดเชื้อเฉลี่ย 14 วันย้อนหลัง อยู่ที่ 22,176 ราย สถานการณ์ติดเชื้อเริ่มลดลง ทั้งจากการตรวจ RT-PCR และ ATK ซึ่ง สธ.ยังคงการเตือนภัยสุขภาพในระดับที่ 4 ต่อไปอีกระยะจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ข้อมูลผู้ป่วยปอดอักเสบวันนี้ 2,123 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 17 เมษายน 44 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 939 ราย เพิ่มมา 28 ราย เมื่อเทียบกับช่วงที่เชื้อเดลต้า ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 1,400 ราย ปอดอักเสบ 5,000 กว่าราย

“โดยสถานการณ์ขณะนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม อัตรการครองเตียงกลุ่มสีเหลือง สีแดง ที่ปอดอักเสบขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 30 จึงมีเตียงรองรับผู้ป่วยหนักพอสมควร และมีการเพิ่มจำนวนเตียงในแต่ละจังหวัดเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อหลังเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตวันนี้ 124 ราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการติดเชื้อมากในช่วงก่อนสงกรานต์ ต้องติดตามสถานการณ์หลังสงกรานต์ไปอีก 2-4 สัปดาห์ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังจากที่เรามีกิจกรรม รวมกลุ่มคน เดินทางทั่วประเทศ มีการเที่ยวงานสงกรานต์ แต่ต้องชื่นชมกิจกรรมที่รักษามาตการได้ สวมหน้ากากอนามัยครบถ้วน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จากข้อมูลการเสียชีวิตกรณีโควิด-19 ยังมีการรายงานเพิ่มขึ้น วันนี้พบ 124 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรังประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่ม 607 โดยข้อมูลการรับวัคซีน พบว่า ไม่ได้รับเลยร้อยละ 55 รับเพียง 1 เข็ม ร้อยละ 6 รับเพียง 2 เข็ม นานเกิน 3 เดือน ร้อยล 27 รับ 2 เข็ม ยังไม่เกิน 3 เดือน ร้อยละ 6 ในกลุ่มนี้รวมกันได้ถึง ร้อยละ 94 และมีผู้ได้รับ 3 เข็ม เสียชีวิต ร้อยละ 6

“อย่างไรก็ตาม โรคเรื้อรังร่วมที่พบมากยังเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคไต โรคหลอดเลือดและสมอง ซึ่งเป็นโรคที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี หรือยังไม่ได้รับวัคซีนด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนต่อแม้จะผ่านสงกรานต์แล้ว ทั้งนี้ สถานการณ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยในกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น เข็มที่ 1 ร้อยละ 84 เข็มที่ 2 ร้อยละ 79.6 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 39.4 ขณะเดียวกัน กลุ่มอายุ 5-11 ปี เข็มที่ 1 ร้อยละ 49.5 และเข็มที่ 2 ร้อยละ 4 ซึ่งจะต้องมีการรณรงค์ฉีดให้ครบถ้วน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อที่รายงานในระบบของสถานพยาบาลจากการตรวจ RT-PCR และ ATK พบว่าเริ่มลดลง แต่ยังพบมากในกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มมีการตรวจด้วย ATK ที่บ้าน จึงทำให้ตัวเลขยังไปถึงสถานพยาบาลไม่ครบทั้งหมด สำหรับตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีขณะนี้เกิดจากการติดเชื้อมากในช่วงก่อนสงกรานต์ แต่ทั้งหมดเป็นไปตามการคาดการณ์ว่า ก่อนสงกรานต์จะมีการติดเชื้อมาก แต่หลังสงกรานต์หากป้องกัน ควบคุมได้ดี ตัวเลขติดเชื้อน่าจะเริ่มลดลง และตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบ เสียชีวิตก็จะมีผลตามมาในช่วง 2 สัปดาห์

เพื่อไม่ให้เส้นกราฟติดเชื้อมากขึ้นจนแพร่ไปสู่กลุ่มเสี่ยงสูง หรือในกลุ่มที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ จึงต้องมี 3 มาตรการหลังสงกรานต์ คือ 1.สังเกตอาการ 7 วัน หากมีอาการให้ตรวจ ATK 2.ในช่วง 5-7 วันแรก เลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมาก สวมหน้ากากตลอดเวลา ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน และ 3.มาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) โดยย้ำว่า แม้ ATK เป็นลบ ก็ขอให้สวมหน้ากาก ระวังตัวตลอดเวลา” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังสงกรานต์คาดว่าจะพบการติดเชื้อถึงวันละ 1 แสนรายหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า หากดูจากการรายงานข่าวช่วงสงกรานต์ ก็พบว่าหลายกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free setting และไม่สาดน้ำตามข้อแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณโรคโควิด-19 (ศบค.) แต่การรวมกลุ่มก็มีโอกาสเป็นคลัสเตอร์ได้ การจากติดตามเริ่มพบคลัสเตอร์บ้าง เช่น โรงงาน สถานประกอบการ แต่ยังเป็นขนาดเล็กอยู่ อย่างไรก็ตาม หากดูตามภาพฉากทัศน์ในเส้นสีแดง ขณะนี้ตัวเลขการตรวจ RT-PCR และ ATK ยังรวมกันไม่ถึงแสนราย แต่ยังต้องติดตามอีก 2-4 สัปดาห์ ที่จะสอดคล้องกับตัวเลขปอดอักเสบและใส่ท่อหายใจ ที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง