รีเซต

โฆษก ศบค.ชี้พยาบาลติดโควิด-19 เพราะใกล้ชิดเพื่อนร่วมงาน

โฆษก ศบค.ชี้พยาบาลติดโควิด-19 เพราะใกล้ชิดเพื่อนร่วมงาน
มติชน
10 ธันวาคม 2563 ( 14:49 )
70
โฆษก ศบค.ชี้พยาบาลติดโควิด-19 เพราะใกล้ชิดเพื่อนร่วมงาน

วันนี้ (10 ธันวาคม 2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (ศบค.) แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า แม้จะมีข่าวว่าบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 แต่บุคลากรกลุ่มนี้คือ ผู้ที่ดูแลผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ 170,000 กว่าคน

 

“เหตุการณ์บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากคนที่เข้าพักในสถานที่กักกันโรคของรัฐ เราจะต้องเข้ามาศึกษา โดยวันเดียวกันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18 ราย ในจำนวนนี้มี 1 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลบีเอ็นเอช โดยบุคลากรทางการแพทย์ รายที่ 1 พบว่ามีการติดเชื้อเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม และจากการสอบสวนโรค ก็เจอรายที่ 2-3 โดยมีการเกี่ยวข้องกันคือ รับประทานอาหารร่วมกัน และทำงานร่วมกัน ซึ่งโดยปกติแล้วพยาบาลและเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ ถ้าอยู่ในการทำงานส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย เราจึงมีความสงสัยมากที่สุด คือ ช่วงที่มีการนั่งร่วมกันรับประทานอาหาร เพราะในส่วนอื่นไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และเจอรายที่ 4 ซึ่งมีความสงสัยว่าเป็นต้นทางของการติดเชื้อ” โฆษก ศบค. กล่าว

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อรายที่ 6 ล่าสุดเกิดขึ้นจากการนำพยาบาลและผู้ใกล้ชิดมาตรวจเช็กอย่างละเอียด รวมถึงพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่สงสัยที่อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวทั้งหมด 851 คนโดยผลตรวจเป็นลบไปแล้ว 745 ราย ทั้งนี้ ประชาชนมีความสงสัยว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อทั้ง 6 ราย มีไทม์ไลน์เดินทางไปที่ไหนบ้าง กรมควบคุมโรคจะทำรายงาน เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างละเอียดต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากกรณีที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ทราบหรือไม่ว่าติดเชื้อมาจากที่ใด และเพราะเหตุใดจึงมีการติดเชื้อในสถานที่กักกันโรคของรัฐทางเลือก (ASQ) นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคสงสัยว่าเกิดจากการเข้าไปให้การบริการกับผู้ที่ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีสวมชุดในการปกป้องร่างกาย แต่อาจจะไม่ได้สวมใส่ให้ครบถ้วน จึงสงสัยว่าช่องทางนี้ที่อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อ แต่ความสงสัยนี้ต้องมีการตรวจสอบขยายวง และนำไปสู่การขยายว่าไทม์ไลน์เป็นอย่างไร

 

เมื่อถามย้ำว่า บุคลากรทางการแพทย์ในขณะปฎิบัติหน้าที่ในสถานที่กักกันโรคของรัฐทางเลือก มีการป้องกันตัวอย่างไร และเมื่อออกมาใช้ชีวิตประจำวันแบบปกติในที่สาธารณะร่วมกับประชาชนทั่วไปมีการป้องกันตัวหรือไม่ อย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตามมาตรฐานทุกคนจะต้องสวมใส่ชุดเครื่องป้องกันตัวเอง จนเป็นหลักปฏิบัติ แต่พอออกมาสู่ที่สาธารณะก็จะต้องมีการชำระล้างร่างกายของตัวเอง แต่ต้องไม่ถึงกับจะต้องกักตัวเอง 14 วัน แต่เมื่อเกิดรายที่ 6 ขึ้นมา ก็จะต้องมีการคิดในเรื่องการป้องกันให้ละเอียดยิ่งกว่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง