รีเซต

'สรรพากร' ผ่อนปรน ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล 3 ข้อ หักกกลบกำไรขาดทุนได้

'สรรพากร' ผ่อนปรน ภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล 3 ข้อ หักกกลบกำไรขาดทุนได้
มติชน
28 มกราคม 2565 ( 17:31 )
47

เมื่อวันที่ 28 มกราคม นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างกรมสรรพากร และผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมีข้อสรุปร่วมกันดังนี้ กรมสรรพากรการผ่อนปรนภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านผู้ประกอบธุรกิจ (Exchange) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เท่านั้น

คือ 1.การคำนวณภาษีเงินได้พึงประเมินนั้น กรมสรรพากร ได้เสนอกฎกระทรวง ให้สามารถนำผลขาดทุนมาหักกลบกับกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน 2.นักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่มีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน ศูนย์ซื้อขาย ไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายได้ จึงถือว่าไม่ครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายระบุไว้ และ 3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จะมีการเสนอพระราชกฤษฎีกายกเว้น แวต สำหรับธุรกรรมที่ กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกรมสรรพากรจะออก คู่มือแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

นายเอกนิติ กล่าวว่า ส่วนนโยบายในอนาคต กรมสรรพากรจะพิจารณาหารือร่วมกับชุมชนสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสม อาทิ การแก้ประมวลรัษฎากรมาตรา 50 ที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยให้ผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผู้หัก และนำส่งกรมสรรพากร และการเปลี่ยนประเภทการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูความเหมาะสมและบริบทต่าง ๆ โดยรอบอีกครั้ง

นายเอกนิติ กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ดำเนินการต่างๆ โดยยึดแนวทางการถือเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ดี การประกอบธุรกิจและการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากโดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาท เป็น 4,839 ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 9.6 พันล้านบาท เป็น 1.14 แสนล้านบาท และมีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนราย เป็น 1.98 ล้านราย รวมถึงวิวัฒนาการเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และรูปแบบการทำธุรกรรมต่างๆ มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนรวดเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง