รีเซต

"เกษตรฯ" ผนึก "ส.อ.ท." เดินหน้าโมเดลอุตฯทันสมัย ผลักดันฟู้ดอินโนโพลิสทุกภูมิภาค

"เกษตรฯ" ผนึก "ส.อ.ท." เดินหน้าโมเดลอุตฯทันสมัย ผลักดันฟู้ดอินโนโพลิสทุกภูมิภาค
มติชน
8 กรกฎาคม 2563 ( 18:20 )
84
"เกษตรฯ" ผนึก "ส.อ.ท." เดินหน้าโมเดลอุตฯทันสมัย ผลักดันฟู้ดอินโนโพลิสทุกภูมิภาค

“เกษตรฯ” ผนึกสภาอุตสาหกรรมรับมือโควิด19 ตั้งคณะกรรมการ “กรกอ.” มอบ “อลงกรณ์” เดินหน้าโมเดล“เกษตรอุตสาหกรรมทันสมัย” วาง “4 เป้าหมาย 5 กรอบ 1 แผน”ผลักดันฟู้ดอินโนโพลิสกระจายทุกภูมิภาค เดินหน้า EEC เกษตร ชู AIC ขับเคลื่อนพร้อมกันทั่วประเทศหวังสร้างมูลค่าสินค้าเกษตร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (8 ก.ค.) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กระชับความร่วมมือกับ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลก โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.) เพื่อเร่งต่อยอดภาคเกษตรด้วยโมเดล “เกษตรอุตสาหกรรมทันสมัย” ในการรับมือกับยุคโควิด19 หลังจากจับมือกับกระทรวงพาณิชย์เดินหน้าโมเดล “เกษตรพาณิชย์ทันสมัย” ไปแล้ว ซึ่งในการประชุม กรกอ. ครั้งแรกเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม กรกอ. ได้เห็นชอบกรอบความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ สอท. “5 กรอบ 4 เป้าหมาย และ 1 แผน” ได้แก่ กรอบความร่วมมือด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด เทคโนโลยีและโลจิสติกส์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 เพิ่ม คือ เพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มจีดีพีประเทศ และแผนพัฒนาภาคการเกษตรในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง บน 5 คลัสเตอร์ทางการเกษตร ได้แก่ คลัสเตอร์ผลไม้ คลัสเตอร์ประมง คลัสเตอร์พืชพลังงาน คลัสเตอร์พืชสมุนไพร และคลัสเตอร์พืชมูลค่าสูงสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และยุคโควิด

“ที่ประชุมได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC เป็นศูนย์ประสานงานการขับเคลื่อนระดับพื้นที่พร้อมกัน 77 จังหวัด โดยให้เร่งนำเสนอแผนจัดตั้งฟู้ดอินโนโพลิส (Food Innopolis) นิคมอุตสาหกรรมเกษตร เขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกษตรและระเบียงเศรษฐกิจเกษตรอุตสาหกรรมในจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพพร้อมกับเร่งเชื่อมโยงข้อมูลของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data Center : NABC) ของกระทรวงเกษตรฯกับศูนย์บิ๊กเดต้าของศูนย์ AIC และสภาอุตสาหกรรมทุกจังหวัด นอกจากนี้ยังเห็นชอบ 3 มาตรการฟื้นฟูภาคเกษตรที่ สอท.เสนอ ได้แก่ 1. เกษตรปลอดภัย เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ 2. เกษตรแม่นยำ นำร่องด้วยโครงการเกษตรแม่นยำ สู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ 3. ไม้เศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเพิ่มป่าชุมชนโดยมีการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการปลูกไม้มีค่าและให้มีการปลูกป่าในชุมชน ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม เพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ตลอดจนผลักดันให้รับรองการจัดการสวนป่า (Forest Management) ด้วยมาตรฐานชาติ มอก. 14061 และให้การยางแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดการสวนยางด้วยมาตรฐานชาติ มอก.14061 จำนวน 13 ล้านไร่ให้แล้วเสร็จใน 5 ปี ภายใต้นโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และนโยบายตลาดนำการผลิตของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายองกรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กรกอ. ยังเห็นชอบให้มีการใช้เครื่องมือขับเคลื่อน 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech & Innovation) 2. เกษตรกรทันสมัย (Smart & Young Smart Farmers) และ ศพก. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง 3. เกษตรอัจฉริยะและเกษตรแม่นยำ (Smart & Precision Agriculture) 4. การรับรองมาตรฐานเกษตร (Standardization) 5. ตลาดนำการผลิต (Online Offline Marketing) 6. โลจิสติกส์เกษตร (Logistic) การขนส่งสินค้าเกษตร

“ความร่วมมือต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการสินค้าเกษตร เกษตรอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเป็นฮับเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยในฐานะประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลกตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ให้สำเร็จ เชื่อมั่นว่าเกษตรกรไทยรวมถึงนักอุตสาหกรรมไทยมีความสามารถ เมื่อร่วมมือกันทำให้มั่นใจว่าเป้าหมาย 4 เพิ่มจะบรรลุความสำเร็จแน่นอน” นายอลงกรณ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง