ก.แรงงาน ขยายเวลา "กู้ปลอดดอกเบี้ย" ถึงปี' 64 ช่วยสถานประกอบการกู้วิกฤต "โควิด-19"
ก.แรงงาน ขยายเวลา “กู้ปลอดดอกเบี้ย” ถึงปี’ 64 ช่วยสถานประกอบการกู้วิกฤต “โควิด-19”
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้กิจการหลายประเภทต้องหยุดกิจการชั่วคราว ส่วนหนึ่งเป็นสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ซึ่งอยู่ในข่ายที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ลูกจ้างของตนเองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของลูกจ้างทั้งหมด โดยในปี 2563 กพร.มีมาตรการช่วยเหลือปรับลดการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่ลูกจ้างเหลือเพียงร้อยละ 10 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์ดังกล่าว จนทำให้ไม่สามารถจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะให้กับลูกจ้างของตนเองได้ นอกจากนี้ กพร.ได้นำประเด็นการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมแบบออนไลน์ เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณาเพื่อกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน และวิธีการยื่นรับรองหลักสูตรอีกด้วย
อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สถานประกอบกิจการเริ่มจัดฝึกอบรม
เพื่อพัฒนาทักษะให้แก่ลูกจ้าง ให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เมื่อสถานการณ์เป็นปกติ ดังนั้น เพื่อบรรเทา
ความเดือดร้อน กพร.จึงจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ในวงเงินกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท
“ปี 2563 กพร.ได้เงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 30 ล้านบาท สำหรับให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมไปใช้ในการพัฒนาทักษะ หรือนำไปใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้แก่พนักงาน แบบไม่มีดอกเบี้ย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นเงินจำนวน 27,066,194 บาท (ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2563) จำนวน 41 บริษัท โดยมีหน่วยงานในสังกัด กพร.ทั่วประเทศ ทั้ง 76 จังหวัด และในกรุงเทพมหานครให้บริการรับคำขอกู้ยืมเงิน” นายธวัช กล่าวและว่า การให้กู้ยืมดังกล่าว เป็นมาตรการจูงใจเพื่อให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเองเพื่อให้มีทักษะฝีมือเพิ่มสูงขึ้น สามารถปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ยืมได้ที่ สพร.และ สนพ.ทุกแห่งทั่วประเทศ ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 15 กรกฎาคม 2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร 0 2390 0261 – 5 หรือ กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2643 6039 หรือสายด่วน 1506 กด 4