สวัสดี "Nikola"! หุ่นยนต์เด็กจากญี่ปุ่น ที่แสดงสีหน้าท่าทางคล้ายมนุษย์!
ทีมวิจัยหุ่นยนต์จากโครงการ RIKEN ในญี่ปุ่น ได้สร้างหุ่นยนต์เด็ก ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์พื้นฐานผ่านกล้ามเนื้อเทียมบนใบหน้าได้สำเร็จ เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาการสร้างหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ รวมถึงเพื่อใช้ศึกษาวิจัยด้านการแสดงอารมณ์ของมนุษย์อีกด้วย
หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า 'นิโคลา' (Nikola) ซึ่งสามารถแสดงอารมณ์ได้มากถึง 6 แบบ ได้แก่ สุข เศร้า กลัว โกรธ ประหลาดใจ และขยะแขยง โดยโปรเจ็กต์นี้นำทีมโดย Wataru Sato จาก RIKEN และนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของทีม ที่สามารถพัฒนาการแสดงออกทางอารมณ์ให้หุ่นยนต์ได้หลากหลายมากขึ้น
เบื้องหลังความสำเร็จของการแสดงอารมณ์ได้สมจริงนี้ อยู่ที่การใช้ตัวกระตุ้นแบบนิวแมติก (pneumatic) ถึง 29 ตัวที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเทียมภายในใบหน้าของนิโคลา และอีก 6 ตัว เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของศีรษะและลูกตา ซึ่งควบคุมโดยความดันอากาศ โดยทีมงานได้วางตัวกระตุ้นตามระบบรหัสการกระทำบนใบหน้า (FACS : facial action coding system)
ซึ่งหลังจากที่ได้ทดสอบให้นิโคลาแสดงอารมณ์ต่าง ๆ ทีมวิจัยพบว่าใบหน้าของหุ่นนิโคลา ซึ่งทำมาจากวัสดุประเภทอีลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสูง ช่วยให้นิโคลาสามารถแสดงอารมณ์ได้สมจริงมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันด้วยความที่ผิวหนังของนิโคลายืดหยุ่นกว่าผิวมนุษย์จริง ๆ จึงทำให้การแสดงอารมณ์ที่ต้องอาศัยรอยยับย่นของใบหน้า เช่น ขยะแขยง รังเกียจ อาจจะดูได้ยากกว่าอารมณ์อื่น ๆ เนื่องจากไม่เกิดรอยขมวดรอยพับบนใบหน้านั่นเอง
ส่วนเป้าหมายในการนำไปใช้งานต่อหลังจากนี้ ในระยะสั้น ทีมวิจัยคิดว่าหุ่นยนต์อย่างนิโคลา สามารถเป็นเครื่องมือวิจัยที่สำคัญในการศึกษาด้านจิตวิทยาสังคมหรือแม้แต่ประสาทวิทยาทางสังคม เกี่ยวกับการแสดงอารมณ์แบบต่าง ๆ ได้ ส่วนเป้าหมายสูงสุดของโครงการก็คือ การสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยเหลือผู้คน ซึ่งทีมวิจัยเชื่อว่า หุ่นยนต์ที่สามารถสื่อสารทางอารมณ์กับเราได้ จะมีประโยชน์การดูแลผู้สูงอายุ และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ได้มากขึ้น
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน วารสาร frontiers in psychology
ขอบคุณข้อมูลจาก