แนะเลี่ยงเส้นทาง! งานสงกรานต์พระประแดง 27 เมษายน 2568 คาดจราจรหนาแน่น

งาน "สงกรานต์พระประแดง" จังหวัดสมุทรปราการ ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2568 ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า บริเวณหมู่บ้านรามัญ และพระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม
สงกรานต์พระประแดง กิจกรรมอัดแน่นตลอด 3 วัน ทั้งการแสดงแสง สี เสียง การละเล่นสะบ้ารามัญ ชมขบวนแห่สงกรานต์พระประแดงและขบวนรถบุปผชาติสุดยิ่งใหญ่ตระการตา การประกวดนางสงกรานต์พระประแดงและหนุ่มลอยชาย คอนเสิร์ตจากซานิ นิภาภรณ์ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ณ เมืองพระประแดง
รวมกิจกรรม งานสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2568
กิจกรรม งานสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2568 อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
1. กิจกรรมการประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย มีการประกวดนางสงกรานต์ เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเน้นความสนุกสนานรื่นเริง จึงจัดให้มีการประกวดหนุ่มลอยชายควบคู่กับการประกวดนางสงกรานต์ไปด้วย โดยผู้ได้รับตำแหน่งนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชายจะต้องร่วมขบวนแห่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง และจะต้องร่วมเล่นสะบ้าโชว์ตามบ่อนสะบ้ารามัญในชุมชนต่าง ๆ
2. กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และเล่นน้ำสงกรานต์ ช่วงท้ายของสงกรานต์ชาวไทยเชื้อสายรามัญในพระประแดง จะมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูป ณ วัดโปรดเกศเชษฐาราม
3. กิจกรรมขบวนแห่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ประเพณีอันยิ่งใหญ่ของชาวรามัญ ประกอบด้วย 3.1 ขบวนแห่รถนางสงกรานต์ เป็นขบวนรถที่สำคัญของขบวนแห่สงกรานต์ พระประแดง ซึ่งลักษณะและรูปแบบของรถสงกรานต์ จะประกอบด้วยตัวสัตว์ประจำปี ตัวพญานาค จามร ที่ประดิษฐานเศียรของท้าวมหาพรหม
- ขบวนแห่รถบุปผาชาติ เทศบาลเมืองพระประแดงและชุมชน หมู่บ้าน หน่วยงานต่างๆ จึงร่วมแรงร่วมใจจัดรถบุปผาชาติที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ที่สวยงามตระการตา โดยมีสาวมอญของแต่ละหมู่บ้านนั่งประจำบนรถ ในขบวนแห่สงกรานต์พระประแดงเป็นประจำทุกปี
- ประเพณีแห่นก - แห่ปลา จัดให้มีขบวนแห่นก-แห่ปลา ร่วมในขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์ เพื่อไปทำพิธีปล่อยนก
- ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม
4. กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน (สะบ้ารามัญ) (มอญ) เรียกว่า (ว่อน-ฮะ-นิ) สะบ้าเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวมอญที่นิยมเล่นทั่วไปตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันการเล่นสะบ้าได้ลดความนิยมลงจนหาดูได้ยาก ซึ่งจะหาดูได้เฉพาะในเทศกาลสงกรานต์พระประแดง
5. กิจกรรมการกวนกาละแมขนมคู่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ชาวมอญจะทำขนมที่มอญเรียกว่า “กวันฮะกอ” หรือที่คนไทยเรียกว่า “กาละแม”
6. กิจกรรมกล่อมบ่อนสะบ้ารามัญ การละเล่นร้องเพลงรำประกอบเพลงพื้นบ้านของชาวมอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชนิด คือ เปิงมาง ปี่ ซออู้ ซอด้วง กลองเล็ก
7. กิจกรรมย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า
(สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5) เพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติศาสตร์จุดสำคัญที่สุด คือการเปิดอุโมงค์ใต้ป้อมแผลงไฟฟ้า ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่สนใจทั่วไปเข้าชมฟรี
8. กิจกรรมพิธีทำบุญเมืองและบวงสรวงรัชกาลที่ 2
กิจกรรมไฮไลท์ งานสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2568
- การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย
- การละเล่นพื้นเมือง (สะบ้ารามัญ) ณ หมู่บ้านรามัญ
- การกวนกาละแม (ขนมคู่งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง)
- การประดับไฟ แสง สี ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า
- พิธีสรงน้ำพระพุทธรูป - พิธีรดน้ำขอพรผู้ใหญ่
- การเล่นน้ำสงกรานต์
- ขบวนแห่นางสงกรานต์และขบวนรถบุปผาชาติ
- พิธีปล่อยนก – ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม
หลีกเลี่ยงเส้นทางจัดงานสงกรานต์พระประแดง
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กของ 1197สายด่วนจราจร ได้โพสต์ข้อความ ประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร
วันที่ 27 เมษายน 2568
ห้ามเข้า รถบรรทุกน้ำหรือคนเพื่อเล่นสงกรานต์
ห้ามจอด รถเปิดเครื่องเสียงให้คนเต้นบนรถหรือริมถนนทั้ง 2 ฝั่งสงกรานต์พระประแดง
-ถนนสุขสวัสดิ์
-ถนนราษฎร์พัฒนา
-ถนนพุทธบูชา
-ถนนราษฎร์บูรณะ
-ถนนประชาอุทิศ
ขณะที่ งานจราจร สน.ราษฎร์บูรณะ ขอแจ้งประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนราษฎร์บูรณะ ถนนประชาอุทิศ วันที่ 27 เมษายน 2568 ในพื้นที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ มีการจัดงานสงกรานต์พระประแดง
เนื่องจากจะมีประชาชนร่วมเล่นน้ำสงกรานต์จำนวนมากคาดว่าการจราจรจะหนาแน่น ในถนนดังกล่าว