รีเซต

นักวิทยาศาสตร์ถอดรหัส 'โควิด-19' ชี้ 'ไทย' เป็นกลุ่ม B กลายพันธุ์ 'ยุโรป-สิงคโปร์' กลุ่ม C

นักวิทยาศาสตร์ถอดรหัส 'โควิด-19' ชี้ 'ไทย' เป็นกลุ่ม B กลายพันธุ์ 'ยุโรป-สิงคโปร์' กลุ่ม C
มติชน
26 เมษายน 2563 ( 17:08 )
466
1

นักวิทยาศาสตร์ถอดรหัส ‘โควิด-19’ ชี้ ‘ไทย’ เป็นกลุ่ม B กลายพันธุ์ ‘ยุโรป-สิงคโปร์’ กลุ่ม C 

โควิด-19 เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นางพิไลลักษณ์ อัคคไพบูลย์ โอกาดะ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. เปิดเผยถึงข้อมูลการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากการเริ่มต้นการศึกษาเมื่อพบมีผู้ป่วยในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ถอดรหัสพันธุกรรมในผู้ป่วย 2 รายแรก ที่พบในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

รายที่ 1 เพศหญิง อายุ 61 ปี เมื่อวันที่ 5 มกราคม เริ่มมีอาการป่วยด้วย ไข้ เจ็บคอ ปวดหัว เมื่อวันที่ 8 มกราคม เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนมายังประเทศไทยอุณหภูมิร่างกายที่คัดกรอง ณ สนามบิน 38.6 องศาเซลเซียส

รายที่ 2 เพศหญิง อายุ 74 ปี เมื่อวันที่ 13 มกราคม เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มายังประเทศไทย และ เริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ มีอุณหภูมิร่างกายที่คัดกรอง ณ สนามบิน 38 องศาฯ

“เมื่อนำมาถอดรหัสพันธุกรรมพบว่า มีรหัสใกล้เคียงกับ SARS-like bat coronavirus อยู่ประมาณร้อยละ 88 เป็นเชื้อไวรัสที่พบจากค้างคาว มีความใกล้เคียงกับ SARS-CoV ที่เคยระบาดเป็นโรคซาร์ส เมื่อปี 2546 ประมาณร้อยละ 80 และมีความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันในลักษณะของการจับเชื้อในร่างกายมนุษย์ จึงทำให้ทราบว่า ไวรัส SARS ที่ผ่านมา กับเชื้อในปัจจุบันมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การก่อให้เกิดโรคจึงมีความแตกต่างกัน” นางพิไลลักษณ์ กล่าว

นอกจากนี้ นางพิไลลักษณ์ กล่าวว่า จากการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของการก่อโรคโควิด-19 เมื่อการถอดรหัสพันธุกรรม พบกลุ่มของเชื้อไวรัสอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม A เป็นต้นตอของการเกิดเชื้อไวรัสที่มาจากค้างคาว กลุ่ม B เป็นกลุ่มที่มีการกลายพันธุ์อยู่บางส่วน ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดเมืองอู่ฮั่น ประเทศที่จีน นำไปสู่การระบาดนอกประเทศ และที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์นี้ กลุ่ม C เป็นกลุ่มที่มีการกลายพันธุ์เล็กน้อยจากกลุ่ม B โดยสายพันธุ์นี้มีการระบาดอยู่ในทวีปยุโรปและประเทศสิงคโปร์

นางพิไลลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์ที่ทั่วโลกเข้าใจตรงกัน เรียกว่า สายพันธุ์ SGV จะพบว่า ในประเทศไทยจะพบสายพันธุ์ S แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 สายพันธุ์มีความแตกต่างกันเพียง 1 ตำแหน่ง ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า เป็นการก่อโรคที่แตกต่างกัน และจากการศึกษาถอดรหัสพันธุกรรมไปแล้ว 40 ราย และจะดำเนินการให้ครบ 100 ราย เพื่อหาการกระจายตัวและดูสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสภากาชาดไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง