รีเซต

ไทยเตรียมเข้าหน้าหนาว ปลาย ต.ค.นี้ 'อุตุฯ' คาด กทม. เย็นสุด 17 องศา ยอดดอย-ภู 8 องศา

ไทยเตรียมเข้าหน้าหนาว ปลาย ต.ค.นี้ 'อุตุฯ' คาด กทม. เย็นสุด 17 องศา ยอดดอย-ภู 8 องศา
มติชน
5 ตุลาคม 2565 ( 10:08 )
18
ไทยเตรียมเข้าหน้าหนาว ปลาย ต.ค.นี้ 'อุตุฯ' คาด กทม. เย็นสุด 17 องศา ยอดดอย-ภู 8 องศา

นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับ ‘มติชนออนไลน์’ ว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมของพายุ ประกอบด้วย มวลอากาศเย็น หรือความกดอากาศสูง อุณหภูมินํ้าทะเล กระแสลมที่พัดปกคลุม ซึ่งขณะนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังไม่พบการก่อตัวของพายุฤดูร้อนลูกใหม่ บริเวณทะเลจีนใต้และในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ทั้งนี้ หากมีและเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ มีโอกาสส่งผลต่อประเทศไทยสูง ซึ่งจะมีเวลาเฝ้าระวังอย่างน้อย 5-7 วัน

นางสาวชมภารี กล่าวว่า ปริมาณฝนสะสมบริเวณประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม-28 กันยายน 2565 สูงกว่าช่วงฤดูฝนกว่า 10% อยู่ที่ 1,549.1 มม. ซึ่งสูงกว่าค่าปกติที่ 1,274.2 มม. หรือคิดเป็น 22% แบ่งเป็น กทม. ปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 2,085.7 สูงกว่าค่าปกติที่ 1,339.0 มม. หรือคิดเป็น 56% ถัดมา ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 1,367.4 สูงกว่าค่าปกติที่ 939.3 มม. หรือคิดเป็น 46% ภาคกลาง ปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 1,329.5 สูงกว่าค่าปกติที่ 1,049.3 มม. หรือคิดเป็น 27% ภาคเหนือ ปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 1,335.1 สูงกว่าค่าปกติที่ 1,087.6 มม. หรือคิดเป็น 23% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 1,504.4 สูงกว่าค่าปกติที่ 1,278.0 มม. หรือคิดเป็น 18% ภาคตะวันออก ปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 1,834.7 สูงกว่าค่าปกติที่ 1,582.8 มม. หรือคิดเป็น 16% และ ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) ปริมาณฝนสะสมอยู่ที่ 2,390.7 สูงกว่าค่าปกติที่ 2,143.5 มม. หรือคิดเป็น 12%

“ฝนที่ตกในขณะนี้ เป็นฝนที่เกิดจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางที่ยังคงพัดปกคลุมทำให้ฝนยังตกต่อเนื่องไปอีก 1-2 วัน คาดว่า หลังจากนี้ฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนจะเริ่มลดลง เนื่องจากเริ่มมีมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และคาดว่าช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม 2565 ลมจะเริ่มเปลี่ยนทิศทางและอุณหภูมิเริ่มลดลง” นางสาวชมภารี

นางสาวชมภารี กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาเข้าสู่ฤดูหนาวของไทย ประกอบด้วย 1.อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบน อยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป (อุณหภูมิต่ำสุด 23 องศาเซลเซียส) อย่างต่อเนื่อง 2.ลมระดับล่าง (ที่ความสูงประมาณ 100-3,500 ม.) เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก ส่วนลมระดับบน (ที่ความสูงประมาณ 5,000 ม.ขึ้นไป) เป็นลมฝ่ายตะวันตก และ 3.ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ฤดูหนาวของไทยปีนี้ คาดว่าจะเริ่มในช่วงต้นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม ซึ่งช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 1 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยบริเวณประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติที่ 19.9 องศาเซลเซียส ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส แต่จะหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย อยู่ที่ 21 องศาเซลเซียส โดย กทม. อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 17-18 องศาเซลเซียส ซึ่งช่วงธันวาคม-มกราคม 2566 จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยบริเวณยอดดอย ยอดภู และเทือกเขา อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 8-15.9 องศาเซลเซียส

ขณะที่ ภาคใต้ตอนบน จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางวัน และมีฝนชุกหนาแน่นทางฝั่งตะวันออกของภาค ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม กับจะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง โดยระมัดระวัง พายุหมุนเขตร้อน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง” นางสาวชมภารี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง