รีเซต

‘สมคิด-อุตตม’ถกฟื้นฟูศก. จ้างงาน-ปลุกท่องเที่ยว-ยืดหนี้

‘สมคิด-อุตตม’ถกฟื้นฟูศก. จ้างงาน-ปลุกท่องเที่ยว-ยืดหนี้
มติชน
3 กรกฎาคม 2563 ( 10:15 )
41
‘สมคิด-อุตตม’ถกฟื้นฟูศก. จ้างงาน-ปลุกท่องเที่ยว-ยืดหนี้

‘สมคิด-อุตตม’ถกฟื้นฟูศก.
จ้างงาน-ปลุกท่องเที่ยว-ยืดหนี้

หมายเหตุ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายอุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และตัวแทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี

วันนี้เป็นการประชุมร่วมกับคณะที่ร่วมคิดร่วมทำกันมาตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้า และเสนอสิ่งใหม่ที่จะช่วยเหลือประชาชนและนักธุรกิจของไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

ผมได้ชี้แจงให้ที่ประชุมฟังว่า ประเด็นปัญหาที่เราควรเน้นหนักและให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้ คือปัญหาของการจ้างงาน เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ลองหลับตานึกภาพดูก็แล้วกันว่า ถ้าทุกประเทศการผลิตหยุด กระบวนการทุกอย่างชะงัก แน่นอนที่สุด สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ พวกเขาจะต้อง
เตรียมลดค่าใช้จ่าย ตอนนี้ที่สหรัฐอเมริกามีคนตกงานแล้วประมาณ 25-30 ล้านคน ก็มาจากเหตุผลเหล่านี้ แต่ของเราต้องพยายามช่วยเหลือประคับประคอง

สาเหตุของการว่างงานมาจาก 2 ส่วน คือ 1.ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โรงงานเริ่มทยอยปิด ส่งผลให้พี่น้องที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯต้องย้ายกลับถิ่นฐาน รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็ได้ให้เงินเยียวยาและคิดว่าจะอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือน กลุ่มคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในชนบท และส่วนใหญ่เป็นครอบครัวมีอาชีพด้านการเกษตรกรรม จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีงานทำได้อย่างไร ตรงนี้นอกจากเงินเยียวยาแล้ว ทางรัฐบาลก็มีโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ดูแลอยู่

มีการพิจารณาและปล่อยไปแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ก็ได้กำชับกับ สศช.ว่าขอให้พิจารณาและเร่ง โดยโครงการทั้งหลายขอให้เน้นเรื่องที่เกี่ยวกับการจ้างงานเป็นสำคัญ และการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สศช.ก็รับปากว่าจะดูแลอย่างเต็มที่ รวมทั้งโครงการของ สศช.เองที่เป็นโครงการใหญ่ระดับประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับท้องถิ่น

2.คือภาวะการว่างงานที่ยังไม่เกิด แต่เราก็ไม่ต้องการให้มันเกิด นั่นคือเหตุการณ์ที่ธุรกิจต้องหยุดกิจการหรือชะงัก เราก็ทราบดีว่าถ้าไม่มีอุปสงค์ในตลาด เขาก็อยู่ได้ลำบาก ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการท่องเที่ยว ขณะนี้มีแค่นักท่องเที่ยวในประเทศ แม้ขณะนี้เริ่มมีการท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง แต่ก็รอให้แพคเกจการท่องเที่ยวออกมาก่อน จากนั้นสถานการณ์ในประเทศก็จะเริ่มดีขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ดูแลอยู่ว่าจะสามารถเปิดได้เมื่อไร แต่ตรงนี้เราก็หวังว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาและนโยบายมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะออกมาทันเวลา

ยังมีอีกหลายจุดในมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ยังไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ลงไปลึกในระดับท้องถิ่น อยากให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณาในส่วนนี้ ว่าขณะที่นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดหรือตามท้องถิ่นต่างๆ ต้องการการสนับสนุนหรือช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง และก็ได้กำชับให้กรมสรรพากรช่วยคิดนโยบายการกระตุ้นการบริโภค เพราะว่าเรารู้ว่าอำนาจซื้ออยู่ในระดับบน ขณะที่ข้างล่างลำบาก ฉะนั้น จึงอยากให้คนที่มีอำนาจซื้อ มีเงินสะสมเยอะ มีการใช้จ่ายเยอะ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคในช่วงเวลาอย่างนี้ เพื่อให้เงินสามารถกระจายไปสู่พี่น้องที่ลำบากกว่า ขอให้กรมสรรพากร และ สศค.เสนอแนวทางดังกล่าวไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อส่งเสริมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวที่มีอยู่ และได้งบประมาณไปแล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือ ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจประสบปัญหามาก ไม่มีใครคาดคิดว่าโควิด-19 จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปทุกประเทศทั่วโลก ถ้าเราไม่ช่วยเหลือเขา เขาก็จะไม่มีทางเลือก เขาก็ต้องลดคนงาน จนกระทั่งปิดกิจการในที่สุด ฉะนั้น เราจึงต้องการหยุดที่ต้นทาง เราไม่ต้องการไปหยุดที่ปลายทาง แต่จะหยุดที่ต้นทางยังไง วันก่อนไปที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็เห็นแล้วว่า เขากำลังทำกองทุนสำหรับคนตัวเล็กที่จะให้สภาพคล่อง ให้เงินทุนบางส่วน และทำให้เขาแข็งแรงพอที่จะขอสินเชื่อจากธนาคารต่างๆ ได้ กำลังร่วมกันอย่างแข็งขัน โดย สสว.ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็ม
อีแบงก์ และธนาคารอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม โครงการเหล่านี้ไม่ว่าธุรกิจขนาดกลาง ขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ขนาดเล็กที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.ก.ที่ออกไป เราจะตั้งกลไกใหม่ที่จะสามารถรองรับเขาได้ บวกกับอุตสาหกรรมบางประเภท เราต้องการรักษาไว้ ได้ฝากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้หารือร่วมกัน คิดว่ากลไกเหล่านี้จะสามารถเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ ภายในไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ถ้าเราทำอย่างนี้ไว้รองรับ ก็หวังว่าการส่งออกอาจจะดีขึ้น และฟื้นกลับมาในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ส่วนที่มีการร้องขอให้เลื่อนการชำระหนี้ และดอกเบี้ยออกไปนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา กระทรวงการคลัง ธปท. และผู้ที่เกี่ยวข้อง พยายามดูแลในสิ่งที่เราจะดูแลได้ และเป็นความพยายามในการหยุดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ทุกอย่างผมและนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้การบ้าน และก็หวังว่าไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคมนี้จะทยอยออกมา และก็เชื่อว่าหลายๆ อย่างจะดีขึ้น โดยเชื่อว่าหลายฝ่ายจะช่วยกันอย่างกระตือรือร้น เราได้บทเรียนมาตั้งแต่ปี 2540 แล้ว ปีนี้เราก็จะพยายามไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก


อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เราได้ตั้งทีมตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เป็นทีมทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมธนาคารไทย หลังจากการหารือนี้ จะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วมด้วย อาจจะมีเรื่องเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการทางด้านตลาดทุน ตลาดพันธบัตร ทีมนี้จะทำหน้าที่พัฒนามาตรการ โครงการที่รองนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่ต้องให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะธุรกิจท่องเที่ยวมีผู้ประกอบการหลายระดับ ทั้งโรงแรม และโฮมสเตย์ ถ้าเราต้องการดูแลในเรื่องการจ้างงาน ดูแลในเรื่องของผู้ประกอบการให้ครอบคลุม เราก็จะพยายามดูในส่วนนี้

อีกเรื่องคือ การสนับสนุนให้มีการปล่อยสินเชื่อให้กว้างขวาง โดยเฉพาะในระดับเอสเอ็มอี และเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ได้สั่งการไปที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แล้ว ว่าต้องเตรียมออกโครงการค้ำประกันเงินกู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ PGS9 อันใหม่ จะช่วยสนับสนุนให้การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของ ธปท.กว้างขวางยิ่งขึ้นได้ แต่จำนวนเงินเท่าไร สศค.กำลังปรึกษาหารือกับ บสย. ซึ่งคิดว่าจะเดินหน้าภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้

การที่ต้องเร่งกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวก็เพราะว่า ในระยะเวลานี้เรามีประชาชนอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ต้องเร่งไปสร้างงานสร้างอาชีพตรงนั้นเลย อย่างน้อยกระตุ้นการค้าขายอาหารก็ทำได้ หมายถึงการจ้างงานเป็นกลุ่มๆ ไปในชุมชน ต้องทำควบคู่กัน แม้งบประมาณมีแต่ขณะเดียวกันธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน สสว. และ ธพว. ได้ขอแล้วว่าต้องลงไป เพราะถ้าจะสร้างงาน มันไม่ใช่แต่จะเอาเงินไปใส่ ต้องช่วยเขาพัฒนา เรากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศมา มันก็จะเป็นโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ และหลังโควิด-19 กลุ่มนี้ก็จะมีสิทธิเติบโต ไม่ได้ช่วยกันในระยะนี้ แต่ช่วยกันในระยะยาว

ขณะเดียวกัน สศช.ได้รายงานในที่ประชุมว่าแพคเกจที่กำลังดูอย่างน้อยมีเป้าหมาย คือการจ้างงานใหม่ 4 แสนราย ทั้งภาคเกษตร รวมไปถึงการเก็บฐานข้อมูลใหม่ในระดับชุมชน เพราะวันนี้หลายๆ สิ่งที่เราทำตั้งแต่ระยะแรก สิ่งที่เราได้และไม่ทิ้งคือข้อมูล อันนี้เราจะทำต่อในระดับชุมชน อีกทั้งวันนี้มีการจ้างงานคนเก็บข้อมูล กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีส่วนหนึ่งที่จะจ้างนักศึกษาจบใหม่ เป็นส่วนหนึ่งในการจ้างงาน เพื่อลดปัญหาให้ได้มากที่สุด ฉะนั้น วันนี้ที่ประชุมอาจเห็นว่าประชุมบ่อยก็จำเป็น เพราะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แล้วประชุมก็ต้องขับเคลื่อน มีคนทำจริงและมีเป้าหมายว่าจะเอาอะไรออกมา

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวนี้จะทำควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อย่าคิดว่ากระทรวงการคลังจะทำใหม่ทั้งหมด ถ้าจะมีต่อยอดต้องทำร่วมกันอยู่แล้ว โดยจะพยายามทำให้เรื่องการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก แต่บังเอิญว่าการท่องเที่ยวจากข้างนอกไม่มา ก็ต้องกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ได้ ฉะนั้น ยืนยันว่าทำร่วมกันแน่นอน

จะพบว่าวิกฤตนี้เป็นเรื่องอุปสงค์เสียเยอะ มีเงินแต่ทำอย่างไรให้เกิดการใช้จ่าย วันนี้ก็มีแววว่าคนต้องการท่องเที่ยวในประเทศไทยพอสมควร จากที่ทราบข่าวว่าช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หลายจังหวัดมียอดจองที่พักเต็ม ต้องไปดูแพคเกจที่ออกมาจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ ประกอบกับช่วยพัฒนาธุรกิจในระดับชุมชนให้มีความน่าสนใจ และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวลงไปเที่ยวมากขึ้น เป็นประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว เพื่อดึงเงินในกระเป๋า คนไทยอั้นมาเหมือนกันแต่ต้องมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าเดิมและถือโอกาสสร้างงาน ส่วนที่จะลงไปในเรื่องของมาตรการว่าจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์มากขึ้นไปอีกไหม สศค. จะลงไปดูจะพิจารณาเท่าที่จำเป็น

ส่วนจะช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้ติดลบน้อยกว่า 8% หรือไม่นั้น เรื่องนี้เลิกพูด เพราะจากการคาดการณ์ในหลายประเทศก็บอกว่าคาดการณ์ได้ยาก ผมคิดว่าเราควรโฟกัสที่เราจะทำอะไร แล้วเรารู้ว่ามันจะเป็นผลดีแน่นอน บรรเทาปัญหาให้ประชาชน ให้ผู้ประกอบการ เรื่องการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ พร้อมปรับ ความพร้อม หลังโควิด-19 ที่รูปแบบการทำธุรกิจ