รีเซต

"สมศักดิ์” ระดมทีม สธ. ลงใต้ เร่งช่วยกลุ่มเปราะ พร้อมส่งยา-เวชภัณฑ์ช่วยน้ำท่วมด่วน

"สมศักดิ์” ระดมทีม สธ. ลงใต้ เร่งช่วยกลุ่มเปราะ พร้อมส่งยา-เวชภัณฑ์ช่วยน้ำท่วมด่วน
TNN ช่อง16
15 ธันวาคม 2567 ( 17:07 )
50

วันที่ 15 ธันวาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ว่า ตนมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เป็นอย่างมาก จึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข ให้ปฎิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบเหตุอุทกภัย โดยเฉพาะการเข้าช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านยารักษาโรค ซึ่งล่าสุด ตนได้รับรายงานสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 11 ว่า ขณะนี้ มีจังหวัดได้รับผลกระทบรวม 4 จังหวัด 24 อำเภอ แบ่งเป็น จังหวัดชุมพร 7 อำเภอ จังหวัดระนอง 2 อำเภอ จังหวัดนครศรีธรรมราช 8 อำเภอ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 7 อำเภอ


“ภาพรวมหน่วยบริการสาธารณสุข 259 แห่ง ได้รับผลกระทบ เช่น น้ำท่วมขัง แต่ไม่ต้องปิดหน่วยบริการ แบ่งเป็น  1.สสจ. 1 แห่ง มีน้ำท่วมขัง 2.รพช. 2 แห่ง มีน้ำท่วมที่ลุ่ม / ลานจอดรถ 3.รพ.สต 2 แห่ง มีน้ำท่วมยูนิตทำฟัน ชั้น 1 และ 4.รพ.สต. 254 แห่ง มีน้ำท่วมบริเวณโดยรอบ ส่วนกลุ่มเปราะบาง ขณะนี้ ได้เข้าช่วยเหลือทุกราย 100% แล้ว แบ่งเป็น จังหวัดชุมพร 29 คน เช่าช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายแล้ว จังหวัดระนอง 250 คน เข้าช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มีการเตรียมความพร้อม เข้าช่วยเหลือเคลื่อนย้ายทันที ถ้าได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการสำรวจมีประชาชนกลุ่มเปราะบางในจังหวัดนครศรีธรรมราช 4,469 คน และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 4,222 คน “ รมว.สาธารณสุข กล่าว


นายสมศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า ขณะที่ การช่วยเหลือ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมทีมไว้ทั้งหมด แบ่งเป็น ทีม MERT 5 ทีม ทีม MINIMERT 53 ทีม ทีม SRRT 33 ทีม ทีม MCATT 124 ทีม และทีม SEhRT 29 ทีม ส่วนยา และเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็เตรียมไว้แจกจ่ายช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งหมด 25,209 ชุด คือ ยาชุดน้ำท่วม 9,320 ชุด ยารักษาน้ำกัดเท้า 14,408 ชุด ยาตำราหลวง 1,481 ชุด รวมถึงได้มีการเตรียมวัสดุอื่นๆ เช่น รองเท้าบู๊ท หน้ากากอนามัย คลอรีน ถุงขยะ นอกจากนี้ ตนยังได้เน้นย้ำให้สาธารณสุข ลงพื้นที่เฝ้าระวัง การเกิดโรคช่วงน้ำท่วมด้วย เพราะโรคที่มากับน้ำท่วม จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ 1.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม 2.กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง 3.กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โรคไข้ฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง และ 4.กลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น โรคไข้เลือดออก ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือ แมลง หรือ สัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟฟ้าดูด และการจมน้ำ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง