รีเซต

สกู๊ป : กรณีศึกษา 'โควิด-19' และการจัดการภาวะวิกฤตในพรีเมียร์ลีก

สกู๊ป : กรณีศึกษา 'โควิด-19' และการจัดการภาวะวิกฤตในพรีเมียร์ลีก
มติชน
28 เมษายน 2563 ( 08:15 )
165

กรณีศึกษา ‘โควิด-19’ และการจัดการภาวะวิกฤตในพรีเมียร์ลีก

 

วิกฤตการณ์โรคระบาดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นอกจากจะเป็นการวัดประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขและความตื่นตัวของสังคมหรือประเทศต่างๆ แล้ว สำหรับวงการลูกหนังโลกเวลานี้ นี่คือบททดสอบสำคัญเรื่อง “การจัดการภาวะวิกฤต” (crisis management) ที่น่าศึกษาไม่น้อย

ที่น่าสนใจก็คือ บางทีม บางลีก หรือบางคนที่มีภาพลักษณ์ดีๆ ในเวลาปกติ พอมาเจอสถานการณ์อย่างนี้ กลับตัดสินใจผิดพลาดในบางเรื่องจนเสียรังวัดไป

ในทางตรงข้าม บางทีม บางลีก หรือบางคน ในเวลาปกติอาจจะโดนวิจารณ์หรือติดภาพลบในใจแฟนบอลหรือสื่อในบางแง่มุม แต่กลายเป็นว่า ในสถานการณ์แบบนี้ เลือกปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมจนเรียกคะแนนให้ตัวเองได้ไม่น้อยเช่นกัน

ก่อนอื่นต้องเท้าความสักนิดว่า การระบาดของไวรัส โควิด-19 ซึ่งทำให้การแข่งขันกีฬาแทบจะทั้งโลกหยุดชะงักไปนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะการเงินของทีมกีฬาหรือลีกกีฬาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
สำหรับลีกฟุตบอลนั้น พอไม่มีการแข่งขัน ก็ไม่มีรายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอด จากการขายตั๋วเข้าชม หรือจากการขายสินค้าลิขสิทธิ์ของทีม (ยกเว้นช้อปออนไลน์)

 

 

ต่อให้อีกหน่อยกลับมาแข่งได้แล้ว แต่ถ้ายังปิดสนามเตะ ก็จะไม่มีรายได้จากการขายตั๋วเข้าชมอยู่ดี
ขณะที่รายรับหดหาย รายจ่ายก็ยังเท่าๆ เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเหนื่อยนักเตะและสต๊าฟโค้ช รวมถึงค่าจ้างเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทั้งที่บางคนว่างงาน (เพราะสถานการณ์บังคับ) ด้วยซ้ำ

ในลีกอื่นๆ ที่รายรับไม่ได้อู้ฟู่เหมือนอย่าง พรีเมียร์ลีก นักเตะหลายสโมสรยินยอมที่จะหักค่าเหนื่อยของตัวเองหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในระยะเวลา 3-4 เดือน ช่วงล็อกดาวน์ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของสโมสร

ในจำนวนนี้ไม่เว้นแม้แต่ทีมชั้นนำของโลกอย่าง รีล มาดริด, บาร์เซโลน่า, บาเยิร์น มิวนิก, ยูเวนตุส หรือนักเตะดับเวิลด์คลาสอย่าง ลิโอเนล เมสซี่ และ คริสเตียโน่ โรนัลโด้

ที่ได้ใจสุดสุดคือสโมสร โรม่า ในลีกกัลโช่ เซเรียอา ของอิตาลี ซึ่งทั้งนักเตะและสต๊าฟโค้ชประกาศไม่รับค่าเหนื่อยนาน 4 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าสโมสรจะมีเงินไปจ่ายค่าจ้างเจ้าหน้าที่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เท่านั้นไม่พอ ถ้าเงินส่วนนี้ยังขาดอยู่ นักเตะและโค้ชก็ยินดีจะสมทบทุนเพื่อให้สโมสรเอาไปจ่ายเจ้าหน้าที่ บนหลักการที่ว่า ถ้าจะผ่านวิกฤตนี้ไป ก็ต้องให้แน่ใจว่าทุกคนจะ “รอด” ไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่บางส่วนเท่านั้น

กลับมาที่พรีเมียร์ลีก เรื่องการจ่ายค่าจ้างเจ้าหน้าที่กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนเมื่อบางทีมในลีกตัดสินใจเข้าโครงการความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งจะช่วยรับผิดชอบค่าจ้างเจ้าหน้าที่ที่โดนพักงานช่วงไม่มีบอลเตะ 80 เปอร์เซ็นต์ (แต่ไม่เกินเดือนละ 2,500 ปอนด์ หรือ 200,000 บาท) ขณะที่สโมสรออก 20 เปอร์เซ็นต์

 

 

ปรากฏว่าการตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ทีมพรีเมียร์ลีกหลายทีมโดนวิจารณ์เละ เนื่องจากรายได้แต่ละปีเป็นตัวเลขหลายร้อยล้านปอนด์ ไม่ควรไปเบียดบังงบประมาณแผ่นดิน เพื่อที่รัฐจะเอาไปใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด หรือนำไปลงทุนด้านสาธารณสุขที่จำเป็นมากกว่า

ทีมที่โดนโจมตีหนักที่สุดจากกรณีนี้คือ ลิเวอร์พูล จ่าฝูงพรีเมียร์ลีกที่กำลังลุ้นแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 30 ปี

ภาพของ เฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป (เอฟเอสจี) เจ้าของทีมหงส์แดงก่อนหน้านี้ คือภาพของนักธุรกิจที่ใจกว้างเรื่องการบริหาร ได้ใจโค้ชและนักเตะ รวมถึงมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับแฟนบอล แต่การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้เอฟเอสจีและผู้บริหารโดนจวกยับทั้งจากแฟนๆ นักวิจารณ์ หรือแม้กระทั่งตำนานสโมสร

สุดท้ายทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษและยืนยันจะไม่เข้าโครงการรัฐอย่างแน่นอน แต่ไม่วายโดนกูรูเสียดสีว่า งานนี้แฟนหงส์หรือแม้แต่ เยอร์เก้น คล็อปป์ ที่ซีเรียสกับสถานการณ์โรคระบาดมาตั้งแต่ต้น คงเสื่อมศรัทธาผู้บริหารไปไม่น้อย

ต่อมาทีมอื่นๆ ที่โดนวิจารณ์มากน้อยต่างกันไปก็ทยอยกลับลำ ทั้ง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ และ บอร์นมัธ ขณะที่ นอริช ซิตี้ วอนสังคมเข้าใจ เนื่องจากเป็นทีมเล็ก เกรงว่าถ้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด อาจจะไปไม่รอด

 

 

 

ช่วงที่บางทีมเสียภาพลักษณ์ดีๆ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ เชลซี ต่างก็ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า จะรับผิดชอบจ่ายค่าแรงเจ้าหน้าที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ไปพึ่งรัฐอย่างแน่นอน

เรียกว่าทำให้คนได้มองเห็นมุมที่ดีจากที่ก่อนหน้านี้ ครอบครัว เกลเซอร์ เจ้าของทีมปีศาจแดง โดนมองว่าเป็นนักธุรกิจอเมริกันซึ่งไม่เข้าใจในกีฬา “ซอคเกอร์” หวังแค่เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากแมนฯยู ขณะที่ โรมัน อับราโมวิช เจ้าของทีมเชลซีก็มีคนติดภาพของนักธุรกิจที่ใช้เงินและอำนาจตามใจชอบ คิดจะซื้อนักเตะคนไหนก็ซื้อ คิดจะปลดโค้ชก็ปลด มุ่งแต่ความสำเร็จโดยไม่คิดถึงใจใคร

มาที่ตัวนักเตะเองก็มีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางในช่วง 2-3 สัปดาห์หลัง เริ่มจากรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษ เปิดประเด็นด้วยการเรียกร้องให้นักเตะพรีเมียร์ลีก “ทำหน้าที่ของตัวเอง” ในการสู้กับไวรัส

“หน้าที่” ที่ว่า สื่อถึงการบริจาคเงินหรือลดค่าเหนื่อย โดยเจตนาของ รมต.น่าจะต้องการให้นำค่าเหนื่อยที่ลดลงนั้นไปสนับสนุนด้านสาธารณสุขของประเทศ

หลังจากนั้นไม่นาน องค์การฟุตบอลลีกก็ออกมาบอกว่าจะหารือกับสโมสรต่างๆ เรื่องลดค่าเหนื่อยนักเตะ
แต่อะไรที่ดูจะง่ายเมื่อฟังข่าวของลีกอื่นๆ กลับกลายเป็นว่าปฏิกริยาจากฝั่งผู้เล่นพรีเมียร์ใช่ว่าจะโอนอ่อนผ่อนตามโดยง่าย เมื่อนักเตะทั้งอดีตและปัจจุบันออกมาตอบโต้เรื่องนี้อย่างมีอารมณ์

เวย์น รูนี่ย์ อดีตกัปตันทีมปีศาจแดง ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และมองว่านักฟุตบอลอาชีพกลายเป็นเป้านิ่งให้คนโจมตี ขณะที่ รอย คีน ตำนานผีอีกรายบอกว่า ถ้าเป็นตนเอง จะไม่ยอมเด็ดขาด เพราะนี่เป็นรายได้ของตน ไม่ควรให้คนอื่นมาจัดแจง

แม้แต่ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (พีเอฟเอ) ซึ่งเปรียบเหมือนสหภาพนักเตะอาชีพของเมืองผู้ดี ก็มีท่าทีขึงขังต่อเรื่องนี้เช่นกัน

 

 

 

นักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาหลักๆ ในเรื่องนี้คือ พรีเมียร์ลีกกลายเป็นธุรกิจลูกหนังขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกี่ยวข้องมหาศาล

หลายสโมสรเปลี่ยนมือเจ้าของจากคนในท้องถิ่นเป็นนักธุรกิจต่างชาติ บางสนามเปลี่ยนชื่อตามสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ฤดูกาลที่แล้ว มีการสำรวจรายได้นักเตะพบว่า ค่าเหนื่อยเฉลี่ยที่แข้งพรีเมียร์ได้รับสูงถึง 3 ล้านปอนด์ (120 ล้านบาท) เป็นคนละเรื่องกับค่าจ้างเฉลี่ยของสหราชอาณาจักรที่ตกหัวละ 29,559 ปอนด์ (1.18 ล้านบาท)
อันที่จริงมองจากมุมของนักเตะก็ไม่ผิดที่พวกเขาจะรู้สึกว่าตกเป็นเป้าโจมตีอยู่ฝ่ายเดียว หรือมองว่านักธุรกิจเจ้าของทีมต่างหากที่รวยกว่า แต่กลับไม่ต้องรับแรงกระแทกใดๆ เลย

อีกประเด็นที่สื่อคาดกันคือ ฝ่ายนักเตะไม่ไว้ใจสโมสร เพราะมองว่าที่ผ่านมาอิงเรื่องธุรกิจเป็นหลัก ถ้าการหักเงินค่าเหนื่อยครั้งนี้นำไปช่วยบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของทีม ทั้งที่ปกติทำเงินได้มหาศาล ก็ออกจะไม่แฟร์นัก

แต่พอโดนกดดันหนักข้อเข้า ก็เกิดวาระเฉพาะกิจที่นักเตะร่วมลงขันบริจาคเงินให้บุคลากรทางการแพทย์ นอกเหนือจากกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ที่ต่างคนต่างเคลื่อนไหวกันก่อนหน้านี้

กระนั้น แฟนบอลจำนวนหนึ่งก็มองว่า เมื่อเทียบกับลีกอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีของโรม่าที่ยินดีไม่รับค่าเหนื่อยนาน 4 เดือนเต็มเพื่อสโมสรแล้ว การยืนกระต่ายขาเดียว ไม่มีท่าทีชัดเจนเรื่องยอมให้หักค่าเหนื่อยของแข้งพรีเมียร์ก็ทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมแย่ลง

ในช่วงที่ทุกอย่างกำลังคาราคาซัง เชลซีเป็นทีมแรกที่ออกมาเคลียร์ทุกอย่าง โดยยืนยันว่า ได้ประชุมกับนักเตะแล้ว ถึงแม้แข้งเชลซีจะยินดีให้สโมสรหักค่าเหนื่อย 10 เปอร์เซ็นต์ 4 เดือน แต่สโมสรยืนยันจะไม่หักเงินใคร และพร้อมจ่ายค่าจ้างให้กับนักเตะ สต๊าฟโค้ช และเจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกทีม ทุกระดับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตลอดช่วงวิกฤตนี้

นี่ยังไม่นับกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ ซึ่งเชลซีแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมาตลอด

แถลงการณ์ดังกล่าวของสิงห์บลูส์ นอกจากจะช่วยปลดภาระและแรงกดันจากนักเตะของตัวเองได้แล้ว ยังได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนบอลตัวเอง และสื่อไปไม่น้อย

โดยเฉพาะความสามารถในการจัดการภาวะวิกฤตที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ดีๆ ให้ทีมได้อย่างดีเยี่ยม

ถ้ามีการจัดอันดับคะแนนการบริหารจัดการสโมสรพรีเมียร์ลีกในช่วงไวรัสระบาดอยู่นี้ เดาไม่ยากเลยว่า เชลซีต้องนำจ่าฝูงอย่างแน่นอน!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง