รีเซต

วิจัยยัน 'โควิด' กระทบชีวิต 'คนจนเมือง' ชง 5 ข้อเสนอทางนโยบาย จี้รัฐเยียวยา

วิจัยยัน 'โควิด' กระทบชีวิต 'คนจนเมือง' ชง 5 ข้อเสนอทางนโยบาย จี้รัฐเยียวยา
มติชน
13 เมษายน 2563 ( 18:54 )
198
1
วิจัยยัน 'โควิด' กระทบชีวิต 'คนจนเมือง' ชง 5 ข้อเสนอทางนโยบาย จี้รัฐเยียวยา

วิจัยยัน ‘โควิด’ กระทบชีวิต ‘คนจนเมือง’ ชง 5 ข้อเสนอทางนโยบาย จี้รัฐเยียวยา

คนจนเมือง – เมื่อวันที่ 13 เมษายน เพจเฟซบุ๊ก “คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19” จัดเฟซบุ๊กไลฟ์ แถลงผลการสำรวจ “ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง” และข้อเสนอแนะทางนโยบาย โดย ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวถึงผลการสำรวจว่า งานวิจัยชิ้นนี้ใช้เวลาสำรวจวันที่ 9-12 เมษายน 2563 มีผู้ตอบคำถามทั้งสิ้น 507 คน เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 50 ปี โดยผู้ตอบแบบสอบถามกระจายอยู่ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, เชียงใหม่, สงขลา ประกอบอาชีพต่างๆ อาทิ ค้าขาย หาบเร่, รับจ้างรายวัน, รับจ้างรายเดือน แต่ไม่มีประกันสังคม

ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าวว่า ข้อค้นพบสำคัญจากการสำรวจคนจนที่อยู่ในชุมชนแออัดแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักคือ 1.สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตนเองของคนจนเมืองในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 พบว่า เกือบ 90 เปอเซ็นต์ มีหน้ากากอนามัยสวมเกือบทุกครั้งเวลาออกจากบ้าน ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่าคนจนไม่สนใจสุขภาพ ไม่ดูแลตัวเองจนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้คนจนเมืองกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ ยังพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเมื่อออกจากบ้าน อีกประการหนึ่งคือคนจนเมืองกว่า 43 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่มีพื้นที่ในบ้านกักตัวเพียงพอ หากมีสมาชิกในครัวเรือนมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 2.ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่า มาตการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้คนจนเมืองเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจหลายประการ อาทิ ไม่สามารถประกอบอาชีพและหารายได้ตามปกติ กล่าวคือ เปอร์เซ็นต์เฉลี่ยที่ใกล้เคียงกันระบุว่า นายจ้างให้หยุดงานหรือเลิกจ้าง, ประกอบอาชีพอิสระ และไม่มีผู้ว่าจ้าง หรือมีผู้ใช้บริการน้อยลง, ประกอบอาชีพค้าขาย และค้าขายได้น้อยลง ทั้งนี้ เมื่อไม่สามารถประกอบอาชีพได้ดังปกติจึงทำให้รายได้ลดลง โดยผู้ตอบผลสำรวจกว่า 60 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่ารายได้ลดลงเกือบทั้งหมด

3.การเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ เราพบว่าคนจนเมืองจำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ โดยครึ่งหนึ่ง หรือราว 66 เปอร์เซ็นต์ที่พยายามลงทะเบียนในโครงการรับเงินเยียวยา 5,000 บาทนั้น สามารถลงทะเบียนสำเร็จ 51.87 เปอร์เซ็นต์ และลงทะเบียนไม่สำเร็จ 14.60 เปอร์เซ็นต์ โดยอีก 28.99 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ลงทะเบียน เพราะทราบว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ เรื่องนี้สะท้อนว่าคนจนเมืองไม่ใช่คนฉวยโอกาส เพราะเกรงว่าหากไม่มีคุณสมบัติแล้วได้รับเงินจะมีความผิดในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนไป เราพบว่าคนที่ผ่านเกณฑ์มีประมาณ 21 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีกประมาณ 12.9 เปอร์เซ็นต์ ไม่ผ่านการพิจารณา โดยที่ 65.78 เปอร์เซ็นต์ของผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิที่ตอบแบบสอบถามนี้ยังอยู่ระหว่างการรอผล สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการเยียวยาของรัฐออกมาล่าช้า ไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อนของคนจน” ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าว

ด้าน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า คณะมีข้อเสนอ 5 ข้อแบบเฉพาะหน้าซึ่งรัฐควรรับฟัง เพื่อให้มีการปรับมาตรการและนโยบาย จนสามารถมีประสิทธิภาพและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ดังนี้ 1.เนื่องจากนโยบายที่รัฐใช้อยู่ตอนนี้เป็นนโยบายที่รัฐพยายามตั้งเกณฑ์ แล้วคัดคนเข้า ซึ่งทำให้คนตกหล่นจากเกณฑ์จำนวนมาก โดยรัฐยังใช้วิธีคิดแบบ “การสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน” เสนอว่าควรเปลี่ยนเป็น “สวัสดิการถ้วนหน้า” 2.งบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้ 4 แสนล้านบาท สำหรับฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจนั้น ควรจัดสรรงบส่วนหนึ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน คณะกรรมการกองทุนชุมชนและหมู่บ้าน สำหรับฟื้นฟูชีวิตคนระดับรากหญ้า โดยการจัดสรรงบผ่านเครือข่ายภาคประชาชนทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนจริง และเกิดการตรวจสอบกันในระดับพื้นที่

รศ.สมชายกล่าวว่า 3.อยากเรียกสั้นๆ ว่าเงินของผู้ใช้แรงงานต้องกลับคืนสู่ผู้ใช้แรงงาน กล่าวคือ คนทำงานจำนวนมากที่จ่ายเบี้ยประกันสังคมแต่ละเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากเรื่องต่างๆ นั้น พบว่าการช่วยเหลือหรือการตอบแทนให้กับผู้ใช้แรงงานเป็นไปอย่างล่าช้ามาก 4.รัฐควรผ่อนปรนเปิดพื้นที่ค้าขายและการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างมีการจัดการ และ 5.ช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิม 600-800 บาท/เดือน ตามช่วงอายุ เป็น 2,000 บาท/เดือน เนื่องจากครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุต่างประสบภาวะฝืดเคืองในช่วงวิกฤต ดังนั้น การเพิ่มเงินส่วนนี้ขึ้นระดับหนึ่งอย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระครัวเรือนต่างๆ ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง