รีเซต

มท.1 มอบนโยบายผ่อนคลายระยะ 3 ให้ผู้ว่าทั่วประเทศ ย้ำ 'การ์ดอย่าตก' พร้อมกำชับการใช้งบฯฟื้นฟูเยียวยาต้องโปร่งใส

มท.1 มอบนโยบายผ่อนคลายระยะ 3 ให้ผู้ว่าทั่วประเทศ ย้ำ 'การ์ดอย่าตก' พร้อมกำชับการใช้งบฯฟื้นฟูเยียวยาต้องโปร่งใส
มติชน
31 พฤษภาคม 2563 ( 14:52 )
153
1

มท.1 มอบนโยบายผ่อนคลายระยะ 3 ให้ผู้ว่าทั่วประเทศ ย้ำ ‘การ์ดอย่าตก’ พร้อมกำชับการใช้งบฯฟื้นฟเยียวยาต้องโปร่งใส

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแนวทางปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนฝ่ายเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนกรมควบคุมโรค และผู้แทนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เข้าร่วมการประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปยังทุกจังหวัด และทุกอำเภอ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอทั่วประเทศ ร่วมประชุม

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรน ระยะ 3 ซึ่งจากการปฏิบัติช่วงที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครต่าง ๆ ได้ร่วมกันป้องกัน สกัดกั้น ยับยั้ง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และประชาชนให้ความร่วมมือกันดีมาก ทำให้ไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่ม และเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีเป็นประเทศหนึ่งในโลก แต่ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องช่วยกันเน้นย้ำสร้างการรับรู้กับประชาชนให้รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือ และรักษาระยะห่างตลอดเวลา อย่าการ์ดตก สิ่งเหล่านี้คือสูตรหลักที่ทุกคนต้องทำ ต้องรักษาสุขอนามัย และป้องกันตนเองเพื่อเตรียมการเข้าสู่การผ่อนคลาย ให้เป็น New Normal ที่ผ่านมาระยะ 1 และ 2 เราทำได้ดีมาก และระยะต่อไปที่จะเข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการท่องเที่ยวที่จะต้องมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ ดังนั้น ถ้าทุกคนทำตามมาตรการควบคุมโรคควบคู่ไปกับเศรษฐกิจได้ ก็จะเป็นโอกาสทองของประเทศไทย

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า ในด้านการใช้งบประมาณทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูที่กำลังจะเกิดขึ้น ทุกส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องบริหารจัดการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสอย่างเคร่งครัด ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ในการใช้งบประมาณที่มีอยู่ไม่มาก ให้ดีที่สุด แก้ไชปัญาให้ดีที่สุด เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และพี่น้องประชาชน ทั้งการจัดทำโครงการ และการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องไม่มีการทุจริต เพราะคนที่ได้รับผลกระทบคือประเทศชาติและคนไทยทุกคน ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องสอดส่องดูแล หากพบว่าสิ่งใดจะก่อให้เกิดความเสียหาย ต้องเรียกดู ตรวจสอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการร้องเรียนต้องเร่งลงไปกำกับดูแล และเชิญชวนประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ร้องเรียน และแจ้งเบาะแสมายังศูนย์ดำรงธรรม และลงไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และถ้าทุกคนทำได้โอกาสทองในการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น

ด้านนายฉัตรชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีข้อกำหนดและคำสั่งจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 29 พ.ค. 2563 ยกเว้นหรือผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง 2. ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 มีสาระสำคัญ คือ 1)การห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 23.00 – 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 2)การผ่อนผันการใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา 3)การผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ประกอบด้วย กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต และกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ 4)การดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคและการจัดระเบียบ 5)การผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด 6)ในกรณีมีปัญหาว่าสถานที่หรือกิจกรรมใดเข้าข่ายตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดหรือไม่ ให้หารือคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และ 7)หากพบการแสดงตนโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบให้แจ้งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหรือแจ้งต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล และ 3.คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 4/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 29 พ.ค. 2563 โดยให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคแนบท้ายคำสั่งโดยเคร่งครัด โดยไม่ต้องเพิ่มเติมกิจการ/กิจกรรมใดๆ ตามข้อกำหนดฯ แต่อาจเสริมมาตรการในทางปฏิบัติได้ และให้สร้างการรับรู้ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามคำสั่งฯ แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ทั้งนี้ ในกรณีมีปัญหาว่าสถานที่หรือกิจกรรมใดเข้าข่ายตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนี้หรือไม่ ให้จังหวัดแจ้งกระทรวงมหาดไทยเพื่อหารือคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต่อไป พร้อมทั้งให้เน้นย้ำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกระดับปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการที่กำหนดด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ กรณีพบการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือแสวงหาผลประโยชน์อื่นใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทั้งทางวินัยและอาญาทุกกรณี

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ทุกส่วนราชการดำเนินงานและใช้จ่ายงบประมาณการฟื้นฟูด้วยความโปร่งใส และร่วมกันปฏิบัติงานตามมาตรการผ่อนคลายให้รัดกุม เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาด และสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในการเดินทางสัญจรข้ามพื้นที่ภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการรับรู้และรณรงค์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนใช้แอปพลิเคชั่นไทยชนะ เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อสามารถทำมาหากินได้อย่างปกติและก้าวสู่การดำเนินชีวิตประจำวันรูปแบบใหม่ และให้ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยทำได้ อย่างที่เราได้ทำร่วมกันมาโดยตลอด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง