รีเซต

'พช.' สภาสตรีฯ เอ็มโอยู จ.สมุทรสาคร รณรงค์ใส่ผ้าไทย สร้างรายได้สู่ชุมชน แสนล.

'พช.' สภาสตรีฯ เอ็มโอยู จ.สมุทรสาคร รณรงค์ใส่ผ้าไทย สร้างรายได้สู่ชุมชน แสนล.
มติชน
24 กุมภาพันธ์ 2563 ( 18:33 )
59
'พช.' สภาสตรีฯ เอ็มโอยู จ.สมุทรสาคร รณรงค์ใส่ผ้าไทย สร้างรายได้สู่ชุมชน แสนล.

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุมศูนย์บริการวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี พร้อมด้วย ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดสมุทรสาคร นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี และหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ในจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมลงนาม จำนวน 40 หน่วยงาน โดยมี นางบุญทิวา วรรณประเวศ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 4 กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ร่วมเป็นพยาน โดยก่อนลงนามได้มีการแสดงโชว์อัตลักษณ์ผ้าไทยของจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดสมุทรสาคร จากหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้นำกลุ่มองค์กรสตรี ภาคเอกชน ชาวไทรามัญ ร่วมแสดงแบบอย่างสวยงาม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ท่านประธานสภาสมาคมสตรีแห่งประเทศไทย ประเทศไทยมี 3 จังหวัด ที่ไม่มีผ้าไทยเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ จังหวัดสมุทรสาคร เดี๋ยวนี้จังหวัดสมุทรสาครมีผ้าไทยแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือการที่ลูกหลานได้รับการถ่ายทอดฝีมือไม่ใช่แค่การนำมาสวมใส่ ซึ่งในวันนี้มีน้องๆจากตำบลเจ็ดริ้วมาประดิดประดอยซึ่งถือว่าเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญา เราไม่จำเป็นต้องเป็นต้นน้ำเราเป็นกลางน้ำก็ได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ปลายน้ำเราก็จะมีโอกาสที่สนับสนุนคนทอผ้าซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญ เพราะได้ช่วยสืบสานรักษาและต่อยอดมรดกให้อยู่คู่กับลูกหลานและช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องการทอผ้าด้วย เพราะวันหนึ่งไม่แน่อาจเกิดวิกฤต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากเราสามารถทอผ้าได้เองก็ถือเป็นความมั่นคงของชาติ และขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและท่านประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดสมุทรสาคร ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรื้อฟื้นให้ผ้าไทยของจังหวัดสมุทรสาครมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ที่สำคัญที่อยากจะกราบเรียน คือ ผมเป็นศิษย์เก่าของสมุทรสาคร คือ เคยเป็นปลัดอำเภอที่อำเภอกระทุ่มแบน 8 เดือน ปลัดอำเภอบ้านแพ้ว 2 เดือน จากนั้นก็ย้ายเข้ากรม และขอขอบคุณที่ปรึกษาส่วนตัวของอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนด้วย คือ ท่านพิภู สุโชคชัยกุล ทีมอาสาพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดสมุทรสาครและท่านประธานหอการค้า คือ คุณอำไพ หาญไกรวิไลย์ ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้จัดงานของจังหวัดสมุทรสาครในครั้งนี้ และผมก็รู้สึกตื้นตันใจกับชาวจังหวัดสมุทรสาครที่ทำให้ผ้าไทยไม่สูญหายไป และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะการสวมใส่ผ้าปักลายปลาทูสมุทรสาคร หน้าเริด เชิดยิ้ม หรือใส่ผ้าสไบปัก ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้

ดร.วันดี กล่าวว่า สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2499 โดยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ภริยาของ ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สตรีทั่วประเทศ โดยหลัก คือ ภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ก่อตั้งสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงนี้ขึ้นมา เมื่อปี 2499 โดยเจตนาของท่านผู้หญิงละเอียด คือ อยากพัฒนาสตรีกว่า 200 องค์กรทั่วประเทศ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ยิกา สภาสตรีแห่งชาติ เมื่อปี 2504 ท่านได้ทรงพระราชทานหน้าที่ของสภาสตรีไว้ 4 ประการดังนี้ 1. เราต้องเป็นแม่บ้านที่ดีของครอบครัว 2. เป็นแม่ที่ดีของลูก 3. อนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย ให้ดำรงสืบไปชั่วลูกหลาน 4.การพัฒนาตนเอง นอกจากมือจะไกวเปลเลี้ยงลูกแล้วจะต้องเป็นผู้รู้เท่าทัน ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ท่านได้พระราชทานให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสตรีไทย ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติจะจัดงานวันสตรีไทยทุกปี ปีที่ผ่านมาสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พระองค์ท่านได้เสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดงานวันสตรีไทย ทรงพระราชทานเกียรติบัตรให้กับสตรีไทยดีเด่นและยุวสตรีทั่วประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ นอกจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ยังได้พระราชทานดอกกล้วยไม้คือดอกแคทลียาเป็นดอกเป็นดอกไม้ของสตรีไทย ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ การรักษาวัฒนธรรมไทยจึงเป็นของการสื่อสารอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน นับเป็นสมัยที่ 2 โดยสมัยแรกในปี พ.ศ.2558 คือ โครงการตามรอยผ้าไทย ลมหายใจแม่ของแผ่นดิน หลังจากที่ได้ศึกษาพระราชกรณียกิจในเรื่องของผ้าไทย องค์กรสตรีก็ไม่สามารถที่จะหาอะไรมาเทียบกับพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้ การรื้อฟื้นผ้าไทยขึ้นมาทำให้หลายครอบครัวไม่ได้ทำอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพรองแต่เป็นอาชีพหลัก ที่ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สภาสตรีจึงได้สนับสนุนการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย จึงได้จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์สินค้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”

ดร.วันดี กล่าวว่า ขอชื่นชมนายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง คุณชุติพร วิจิตร์แสงศรี ที่ได้รื้อฟื้นเรื่องอัตลักษ์ผ้าทุกที่ที่ท่านไปอยู่ โดยเฉพาะผ้าลายดอกบุนนาคที่จังหวัดพิจิตร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงชื่นชมเป็นอย่างมาก ครั้นเสด็จทอดพระเนตรการทอผ้าท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน นอกจากนี้ ยังได้รื้อฟื้นผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสาคร อยากให้สตรีจังหวัดสมุทรสาครทุกท่าน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และใส่ผ้าไทยทุกวัน เชื่อว่าทุกคนจะต้องซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ 10 เมตร หากสตรี 35 ล้านคน ใส่ผ้าไทยคนละ 10 เมตร รวม 350 ล้านเมตร เมตรละ 300 บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที 1 แสนล้านบาท นอกจากเราจะช่วยรักษาวัฒนธรรมแล้ว เรายังช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก คือ เศรษฐกิจครัวเรือน เมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนเข้มแข็งเศรษฐกิจ โดยรวมก็เข้มแข็งไปด้วย การบันทึกความร่วมมือในวันนี้ไม่ใช่แค่การจรดปากกาลงในกระดาษ แต่เป็นคำมั่นสัญญาที่เราจะร่วมกันทำจะช่วยให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งขึ้น และส่งเสริมให้คนใกล้ตัวได้สวมใส่ผ้าไทยในทุก ๆ วัน ขอขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และประธานชมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมทั้งหัวหน้าส่วนราชการทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะองค์กรสตรีของเราจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจนี้

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่ชื่นชมจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก ๆ อยู่ติดกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ซึ่งจังหวัดสมุทรสาครจะดำเนินการต่อไป วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้น เราจะดำเนินการต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นางรัชนี โพธิสัตยา พัฒนาการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดสมุทรสาครได้ให้ความสำคัญกับ โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” โดยได้ต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาผ้าของชาวไทเชื้อสายรามัญ ในจังหวัดสมุทรสาคร ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีชาวรามัญ หรือชาวมอญอาศัยอยู่จำนวนมากจังหวัดหนึ่ง ทำให้วัฒนธรรมและประเพณีของชาวมอญเข้ามามีอิทธิพลและกลายเป็นวัฒนธรรมและประเพณีประจำจังหวัดสมุทรสาครได้ การแต่งกายของผู้ชายชาวมอญจะสวมเสื้อคอกลมแขนยาวบ้างสั้นบ้างตามโอกาสนุ่งลอยชายพาดผ้าขาวม้า การพาดผ้าขาวม้า การแต่งกายของผู้หญิงชาวมอญ เสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุงเกล้ามวยผมคล้องผ้าสไบ จะเห็นได้ว่าสไบ เป็นการแต่งกายหลักที่ยังคงอยู่ จึงได้นำผ้าสไบ มาสร้างมูลค่า ด้วยการนำเป็นสร้างลวดลาย ใหม่ คือ ลวดลายปลาทู ลายกล้วยไม้ และนำลวดลายจากผ้าสไบไปตกแต่งบนเสื้อผ้า เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับยุคสมัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง