รีเซต

สธ.ขันน็อตสถานกักกันโควิด-19 จัดคนเข้าเมืองตามกลุ่มปท.เสี่ยงสูง กลาง ต่ำ

สธ.ขันน็อตสถานกักกันโควิด-19 จัดคนเข้าเมืองตามกลุ่มปท.เสี่ยงสูง กลาง ต่ำ
มติชน
28 ตุลาคม 2563 ( 14:45 )
138

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงมาตรฐานการจัดการสถานกักกันโรค (Quarantine) ในประเทศไทย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า มาตรฐานของสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine) และสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative Local Quarantine) หรือ ALSQ ใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 มาตรฐาน 6 ข้อ ประกอบด้วย

 

1.โครงสร้างอาคารและวิศวกรรม ความปลอดภัย ทางหนีไฟ ระบบปรับอากาศ ระบบระบายน้ำทิ้งที่บำบัดน้ำป้องกันการติดเชื้อได้ 2.บุคลากร จะต้องมีพยาบาลประจำที่โรงแรม พนักงานในโรงแรมต้องผ่านการอบรมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 3.อุปกรณ์อื่นๆ จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ชุดป้องกันในการทำความสะอาดห้องพัก 4.เวชภัณฑ์ จะต้องมีชุดยาปฐมพยาบาล อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ 5.การจัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน การจัดการขยะติดเชื้อต้องมีหลักฐานการกำจัด และการสร้างความเข้าใจเพื่อให้ชุมชนรอบข้างยอมรับ และ 6.ต้องมีโรงพยาบาล (รพ.) คู่สัญญา เพื่อตรวจหาเชื้อผู้กักตัว และหากพบว่าติดเชื้อจะต้องส่งเข้ารักษาใน รพ.ทันที แต่หากผลการตรวจเชื้อเป็นลบ สามารถออกมาในพื้นที่ที่กำหนดได้ แต่ต้องเว้นระยะห่างกับผู้อื่น

 

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สถานกักกันโรคทางเลือก ในปัจจุบันมีโรงแรมเข้าร่วมแล้ว 131 แห่ง รวม 13,004 ห้องพัก ผ่านการประเมินแล้ว 101 แห่ง แสดงให้เห็นว่า มีส่วนหนึ่งที่ไม่ผ่านมาตรฐานการประเมิน ส่วนสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก ซึ่งอยู่ในต่างจังหวัด มีจำนวน 21 แห่ง รวม 1,466 ห้องพัก ได้แก่ ภูเก็ต 8 แห่ง สุราษฎร์ธานี 10 แห่งและ บุรีรัมย์ ชลบุรี ปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 แห่ง ทั้งนี้ สัดส่วนการเข้าพักใน 2 รูปแบบ มีเพียงร้อยละ 30-50

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่พบล่าสุด ที่เป็นการติดเชื้อจากสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก คณะทำงานด้านวิชาการ สธ. ได้ตรวจประเมินพบว่า มีหลายจุดที่ต้องทบทวน จุดสำคัญ เช่น การออกจากห้องเพื่อมาออกกำลังกาย การอนุญาตให้เข้าทำความสะอาดห้องพักทุก 2 วัน บางโรงแรมมีการปะปนในการให้บริการ

 

“แนวทางก่อนการอนุญาตให้เปิดเป็นสถานกักตัว โรงแรม และ รพ.คู่สัญญา จะต้องรับทราบข้อปฏิบัติและจะต้องมาทำให้เห็นว่า มีระบบป้องกันการติดเชื้อ เช่น มีพื้นที่ส่วนใดที่เป็นพื้นที่พักผ่อน จัดรอบอย่างไร เว้นระยะห่างเหมาะสม การทำความสะอาดฟิตเนสที่เพียงพอ ที่ผ่านมา ระบบวางไว้ค่อนข้างดี แต่มีบางโรงแรมที่ยังไม่ทำตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สบส.ได้ซักซ้อมทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ให้ปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัด และมอบให้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานประชุมเพื่อจะปรับอย่างไรให้ปลอดภัย แต่ยังคงดูแลผู้เข้ากักตัวให้ได้รับความสะดวกสบายพอสมควร แต่ยึดหลักความปลอดภัย” นพ.ธเรศ กล่าว

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า แนวทางเบื้องต้น คือ การอนุญาตให้ผู้กักตัวใช้อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกในสถานกักกันโรค ตามกลุ่มประเทศเสี่ยงที่คณะกรรมการโรคติดเชื้อประเมินทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือน โดยแบ่ง 3 กลุ่ม คือ สีเขียว เป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ สีเหลือง เป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงปานกลาง และ สีส้ม เป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงสูง

 

“อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในสถานกันกันโรคจนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ากักตัวในสถานกักกันโรคทางเลือก รวม 25,113 ราย มีผู้ติดเชื้อ 105 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.42 ซึ่งต่ำกว่าการติดเชื้อในสถานกักกันของรัฐ (State Quarantine) ที่มีผู้เข้ากักตัว รวม 72,813 ราย ติดเชื้อ 601 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.83 แสดงให้เห็นว่าระบบการจัดการสถานกักกันทางเลือก ยังเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ยังมีบางส่วนที่ต้องปรับปรุง

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีสถานกักกันใดที่หย่อนมาตรการป้องกันโรค จะมีบทลงโทษอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า เพื่อความปลอดภัยก็จะสั่งให้มีการปรับปรุงจุดอ่อนว่าไม่ปฏิบัติตามอย่างไร และสั่งให้ระงับการรับผู้กักตัวใหม่ในโรงแรมแห่งนั้น และหากปัญหาที่พบเป็นจุดที่เสี่ยงมาก ก็จะพิจารณาเพิกถอนการอนุญาตเป็นสถานกักกันโรคในโรงแรมแห่งนั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง