รีเซต

'โควิด' รายใหม่ ดับเพิ่มอีก 1 คนมีประวัติเสี่ยงต้องรีบแจ้ง ช่วยปกป้องบุคลากรแพทย์

'โควิด' รายใหม่ ดับเพิ่มอีก 1 คนมีประวัติเสี่ยงต้องรีบแจ้ง ช่วยปกป้องบุคลากรแพทย์
ข่าวสด
19 กุมภาพันธ์ 2564 ( 12:32 )
36

ป่วย 'โควิด' รายใหม่ ดับเพิ่มอีก 1 ภาพรวมการติดเชื้อยังมาจากสมุทรสาคร-ปทุมธานี ย้ำคนมีประวัติเสี่ยงต้องรีบแจ้งเมื่อไปรพ.-คลินิก ช่วยปกป้องบุคลากรแพทย์

 

 

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวันว่า สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 110.82 ล้านราย เป็นรายใหม่ 3.97 แสนราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 11,491 ราย สะสม 2.45 ล้านราย อัตราเสียชีวิต 2.2% หลายประเทศมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง นอกจากการกระจายวัคซีน ยังมีมาตรการออกมาอย่างเข้มข้นและบังคับใช้กันทั่วโลก

 

ซึ่งขณะนี้ฉีดแล้ว 186 ล้านโดส การจะบอกว่าตัวเลขลดลงเป็นผลจากวัคซีนอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปเช่นนั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าต้องรอให้ฉีดครนบ 2 โดสและมากเพียงพอ ซึ่งสหรัฐฯ ฉีดครบ 2 ครั้งอยู่ที่ 16 ล้านคน

 

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 130 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 116 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 14 ราย หายป่วย 124 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย คือนพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ ซึ่งเป็นบุคลากรการแพทย์ ส่งผลให้มีผู้ป่วยรวมสะสม 25,241 ราย รักษาหายแล้ว 24,070 ราย เหลือรักษาอยู่ 1,088 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 83 ราย

 

ส่วนระลอกใหม่ผู้ติดเชื้อสะสม 21,004 ราย หายสะสม 19,893 ราย เสียชีวิตสะสม 23 ราย อัตราเสียชีวิต 0.11% โดยผู้เสียชีวิต คือ นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ อดีตแพทย์เกษียณ รพ.มหาสารคาม มีโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แม้เกษียณก็ยังเปิดคลินิกดูแลผู้ป่วย ถือเป็นความสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลประชาชน

 

ซึ่งท่านติดเชื้อสืบเนื่องจากการดูแลผู้ติดเชื้อรายที่ 2, 9, 11 ของมหาสารคามจากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ วันที่ 13-28 ม.ค. หลังจากนั้นวันที่ 29 ม.ค.ได้รับข่าวว่าผู้ป่วยติดเชื้อ จึงไปตรวจครั้งแรกยังไม่พบเชื้อ วันที่ 31 ม.ค.เริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว คล้ายมีไข้ วันถัดมามีไข้ วันที่ 2 ก.พ.ตรวจครั้งที่ 2 ผลเป็นบวก รับการรักษา รพ.มหาสารคาม วันที่ 7 ก.พ. มีอาการปอดอักเสบ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อาการทรุดลงอย่างรวดเร็วและเสียชีวิตวันที่ 18 ก.พ.

 

“กรณีนพ.ปัญญา ไม่ใช่บุคลากรสาธารณสุขรายแรกที่ติดเชื้อ ซึ่งตั้งแต่ 15 ธ.ค. 2563 - 18 ก.พ. 2564 มีการติดเชื้อ 36 ราย แต่นพ.ปัญญาเป็นรายแรกที่เสียชีวิต ทั้งหมด 36 ราย ติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน 6 ราย ซึ่งไม่เฉพาะแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ผู้ช่วยพยาบาล ทุกวิชาชีพ กระจายทั่วทุกภาค และบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำจำนวนมาก ทำให้ต้องกักตัวสูญเสียคนทำงาน โยกบุคลากรมาทำงาน เรามีแพทย์ 3.5 หมื่นราย ต้องดูแลประชากรไทย 1,800 กว่าคน บางพื้นที่ต้องดูแลมากถึง 4-8 พันคน

หากท่านสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ไปพื้นที่เสี่ยง อาศัยในชุมชนที่ประกาศการติดเชื้อ แต่ไป รพ. คลินิก ต้องแจ้งให้ทราบเพื่อให้เกิดการระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียบุคลากร นำมาสู่ข้อเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจ หนึ่งในมาตรการที่นำเสนอ ศบค.ชุดใหญ่คือการกระจายวัคซีน สิ่งสำคัญ คือต้องกระจายวัคซีนเพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศ วัคซีนล็อตแรกๆ ต้องแจกจ่ายบุคลากรสาธารณสุข เพื่อดูแลรักษาให้มีชีวิตช่วยประชากรไทยต่อเนื่องได้” พญ.อภิสมัย กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่มาจาก 1.สมุทรสาคร 71 ราย คิดเป็น 61.21% สะสม 15,825 ราย คิดเป็น 78.74% 2.กทม. 7 ราย คิดเป็น 6.03% สะสม 941 ราย คิดเป็น 4.68% และ 3.จังหวัดอื่นๆ 38 ราย คิดเป็น 32.76% สะสม 3,333 ราย คิดเป็น 16.58% เมื่อแยกตามประเภทผู้ป่วย พบว่า 1.มาจากระบบเฝ้าระวังฯ 61 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 35 ราย ปทุมธานี 10 ราย กทม. 7 ราย นครปฐม 3 ราย พระนครศรีอยุธยา 4 ราย และนนทบุรี 2 ราย

 

2.คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 55 ราย ได้แก่ นครปฐม 7 ราย ปทุมธานี 12 ราย และ สมุทรสาคร 36 ราย และ 3.ต่างประเทศ 14 ราย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเดนมาร์ก ประเทศละ 3 ราย เยอรมนี พม่า ประเทศ 2 ราย สหรัฐอเมริกา อิตาลี คูเวต และแคเมอรูน ประเทศละ 1 ราย หลายรายพบการติดเชื้อวันที่ 10-13 ของการกักตัวจึงต้องใช้ 4 วันในการกักตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง