รีเซต

"อนุทิน" เชื่อไทยอยู่กับ "โควิด-19" ไม่น้อยกว่า 2 ปี ชื่นชม "มูลนิธิ" ช่วยงานแพทย์ฉุกเฉิน

"อนุทิน" เชื่อไทยอยู่กับ "โควิด-19" ไม่น้อยกว่า 2 ปี  ชื่นชม "มูลนิธิ" ช่วยงานแพทย์ฉุกเฉิน
มติชน
26 เมษายน 2563 ( 16:16 )
179

“อนุทิน” เชื่อไทยอยู่กับ “โควิด-19” ไม่น้อยกว่า 2 ปี ชื่นชม “มูลนิธิ”ช่วยงานแพทย์ฉุกเฉิน

การแพทย์ฉุกเฉิน- เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่มูลนิธิร่วมกตัญญู จ.สมุทรปราการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดการประชุมการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ขององค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการในสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 พร้อมมอบชุดป้องกันการติดเชื้อ ได้แก่ ชุดป้องกันส่งนบุคลล PPE หน้ากากอนามัย ถุงคลุมเท้า ถุงมือ แอลกอฮอล์ และอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า (Face shield) พร้อมชมการสาธิตการปฏิบัติการการช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยติดเชื้อของมูลนิธิร่วมกตัญญู โดยมี นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 6 ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแหงชาติ (สพฉ.) นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรปราการ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ใน จ.สมุทรปราการ ประธานมูลนิธิร่วมกตัญญู ประธานและตัวแทนมูลนิธิต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 24 แห่ง เข้าร่วม

นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เครือข่ายมูลนิธิเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานการแพทย์ฉุกเฉิน อยู่ใกล้ชิดให้ความช่วยเหลือประชาชนมากที่สุด ได้ช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ การรับผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บอื่นๆ ที่ไม่ทราบว่าติดเชื้อนำส่งโรงพยาบาล หรือเก็บร่างผู้เสียชีวิตทั้งติดเชื้อและไม่ติดเชื้อให้แก่ญาติ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 โดยได้ให้ สพฉ.จัดตั้งชุดปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษเพื่อตอบโต้ COVID-19 (Special COVID-19 Operation Team: SCOT) จำนวน 63 ทีมทั่วประเทศ อบรมเสริมสร้างทักษะ ความรู้ในการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย รวมทั้งจัดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อขณะปฏิบัติภารกิจ เพื่อเป็นทีมสำรองช่วยชุดปฏิบัติการระดับสูงปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก

“แม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ของไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่ไม่ควรไว้วางใจมากนัก เพราะหลายประเทศยังประสบปัญหาการระบาดของโรคที่รุนแรง เชื่อว่าประเทศไทยยังต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไม่น้อยกว่า 2 ปี ทีม SCOT จะช่วยเสริมทีมการแพทย์ฉุกเฉินของ สธ.เพิ่มความเข็มแข็งระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทยในการต่อสู้กับโรคนี้” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้กำหนดให้ชุดปฏิบัติการฉุกเฉินที่ออกปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องเป็นชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (ALS) ซึ่งเป็นทีมที่มีความรู้ทักษะในการป้องกันการติดเชื้อเป็นอย่างดี ทั่วประเทศมีประมาณ 2,000 ชุดเท่านั้น

“แต่จากการปฏิบัติการฉุกเฉินที่ผ่านมาชุดปฏิบัติการฉุกเฉินสังกัดมูลนิธิเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร มีสัดส่วนของการออกเหตุมากกว่าร้อยละ 60 ของการออกเหตุทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบการแพทย์ฉุกเฉินสังกัดมูลนิธิ จำนวน 33,358 คน มีรถปฏิบัติการฉุกเฉิน จำนวน 8,402 คัน ในจำนวนมูลนิธิ 400 กว่าแห่งทั่วประเทศ จึงได้จัดอบรมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินในสังกัดมูลนิธิ เป็นชุดปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษเพื่อตอบโต้โควิด-19 เพื่อสนับสนุนงานของระบบสาธารณสุขให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง