รีเซต

‘กยท.’ แจงประกันรายได้ระยะ 2 หลังงบเพิ่มแตะ 4.2 หมื่นล้าน

‘กยท.’ แจงประกันรายได้ระยะ 2 หลังงบเพิ่มแตะ 4.2 หมื่นล้าน
มติชน
21 เมษายน 2563 ( 09:53 )
62

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.เตรียมทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 วงเงิน 42,000 ล้านบาท เสนอคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) หลังจากที่ผ่านมาเตรียมงบประมาณเบื้องต้นไว้ที่ 35,000 ล้านบาท แต่หลังเตรียมทำโครงการฯมีเกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียนในส่วนของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือผู้ถือบัตรสีชมพู แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ กยท.เป็นจำนวนมากถึง 5.7 ล้านไร่ จากเดิมเมื่อรัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 มีเกษตรกรถือบัตรสีชมพูไม่ถึง 5 ล้านไร่

 

ทั้งนี้ จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และราคายางที่ตกต่ำลง จากราคาตลาดโลกที่ราคาน้ำมันตกต่ำ และการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดไม่สามารถส่งออกได้ การผลิตจากทั่วโลกที่ต้องใช้ยางเป็นวัตถุดิบหยุดชะงัก ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมในการส่งออก (เซส) 2 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 ถึง กลางเมษายน 2563 หรือประมาณเกือบ 7 เดือนเก็บได้วงเงิน 4,665 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใกล้เคียงปี 2562 ที่ทั้งปีเก็บเงินเซส 8,116 ล้านบาท

 

“หลังจากรัฐบาลมีการประกันรายได้ราคายางพารา 60 บาทต่อกิโลกรัม และเปิดให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ส่งผลให้เกษตรกรกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แจ้งขึ้นทะเบียนเพิ่มมากกว่า 1.14 แสนราย หรือทำให้พื้นที่ปลูกยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เพิ่มเป็น 1.917 ล้านไร่ โดยล่าสุดพื้นที่ปลูกยางไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพิ่มเป็น 5.77 ล้านไร่ หรือจำนวน 3.86 แสนราย จากเมื่อปี 2562 รัฐบาลมีการดำเนินโครงการประกันรายได้ชาวสวนระยะที่ 1 มีกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิเพียง 3.87 ล้านไร่ หรือจำนวน 2.72 แสนราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งบประมาณ จากระยะที่ 1 ใช้เพียง 2.5 หมื่นล้าน เพิ่มเป็น 4.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นล้านบาทในระยะที่ 2” นายประพันธ์กล่าว

 

สำหรับ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ดังกล่าวจะเสนอให้ กนย. พิจารณาก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินให้เกษตรกรได้ประมาณเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป นอกจากนี้ เพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 กยท.มีนโยบายที่สามารถดำเนินการได้ทันที อาทิ โครงการพักชำระหนี้และงดดอกเบี้ย ให้กับเกษตรกร จำนวน 4,841 ราย 216 ล้านบาท เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย วงเงิน 200 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 1.7 ล้านราย 42,000 ล้านบาท เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง