รีเซต

ถอดบทเรียน ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วครั้งใหญ่ เรียนรู้อะไรได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้

ถอดบทเรียน ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วครั้งใหญ่ เรียนรู้อะไรได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2564 ( 11:07 )
177
ถอดบทเรียน ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วครั้งใหญ่ เรียนรู้อะไรได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้

เรียกว่าเช้าตรู่ของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ของใครในหลายๆ ครอบครัว ต้องตกอยู่ในภาวะที่คาดไม่ถึงและเหมือนต้องตื่นขึ้นมาเจอฝันร้าย เมื่อจู่ๆ  เวลาประมาณ 03.30 น. โรงงานที่ตั้งอยู่ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 หมู่ 15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับเม็ดโฟมและพลาสติกขนาดใหญ่ ได้เกิดเพลิงลุกไหม้ตัวอาคารโรงงานอย่างรุนแรง และมีเสียงระเบิดดังขึ้นเป็นระยะ 

เปลวเพลิงโหมลุกไหม้อย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมได้

แรงอัดทำให้บ้านเรือนและโรงงานที่อยู่โดยรอบข้างรัศมี 500 เมตร ได้รับความเสียหายจำนวนมาก เศษซากโรงงานปลิวไปทั่วบริเวณ บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 100 หลัง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายสิบราย และเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สูญเสียวีรบุรุษนักดับเพลิง 1 ราย คือ "น้องพอส" ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุเพลิงไหม้

เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวกับภารกิจเข้าปฏิบัติการควบคุมเพลิงที่ดูแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทั้งเปลวไฟโหมลุกไหม้อย่างรุนแรง และกลุ่มควันสีดำจากโรงงานที่ยังคงพวยพุ่งขึ้นบนท้องฟ้า จนพื้นที่ระยะไกลยังมองเห็นได้ โดยที่เวลานั้นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ เนื่องจากกระแสลมมีการเปลี่ยนทิศตลอดเวลา

ภาพจากฮ.ห้องกู้ภัย (คำรพ1)

 

 ประกาศให้ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร อพยพโดยด่วน 

ภายหลังเกิดเหตุนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุและจากการประเมินสถานการณ์คาดว่าไม่ปลอดภัย เนื่องจากเปลวไฟยังลุกโหมอย่างรุนแรงและเข้าประชิดตัวถังบรรจุเคมีขนาดใหญ่ของโรงงาน จึงได้ประกาศให้ประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน ทำการอพยพออกจากพื้นที่โดยด่วน เนื่องจากเกรงว่าหากควบคุมเพลิงยังไม่ได้ถังบรรจุเคมีขนาดใหญ่อาจเกิดการระเบิด ชาวบ้านและประชาชนจะได้รับอันตราย

การเร่งอพยพในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากเจ้าหน้าที่อาสาและมูลนิธิต่าง ๆ ที่ระดมกำลังกันมาช่วยกันนำประชาชนออกนอกพื้นที่อย่างเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัย 

ขณะที่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนกิ่งแก้ว ห่างจากจุดที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตรได้เร่งย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลโดยใช้รถของโรงพยาบาลและรถสองแถว กระจายไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเนื่องจากโรงพยาบาลอยู่ใกล้จุดที่เกิดเหตุจึงกลายเป็นจุดที่อันตราย

ออกคำเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่เลี่ยง ห้ามสูดดมกลิ่นควันไฟ 

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรรู้ภายหลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รีบออกคำเตือนไปยังประชาชนในพื้นที่ว่าควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อเลี่ยงการสูดดมกลิ่นควันไฟจากโรงงาน เนื่องจากเป็นสารเคมี "สไตรีนโมโนเมอร์" ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อร่างกาย และเป็นสารก่อมะเร็ง

ขณะที่ทางกรมควบคุมโรค ได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ของควันพิษอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเฝ้าระวัง 2 กลุ่ม คือ 

1.กลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง จะมีการเฝ้าระวังติดตามผลกระทบด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  

2.กลุ่มเจ้าหน้าที่เผชิญเหตุ ได้แก่ พนักงานดับเพลิง จะมีการตรวจคัดกรองสุขภาพเพื่อติดตามอาการและเฝ้าระวังผลกระทบหลังการปฏิบัติงาน

ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับควันพิษ

1.หากโดนผิวหนัง ให้ล้างบริเวณที่ถูกสารเคมีโดยใช้น้ำสะอาดล้างให้มากที่สุดเพื่อให้เจือจาง ถ้าสารเคมีถูกเสื้อผ้าให้ถอดเสื้อผ้าออกก่อน  

2.หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้ไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว  

3.หากการสูดดมควันพิษเข้าไป ให้ย้ายผู้ป่วยไปที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์หรือมีอากาศถ่ายเท และทำการประเมินการหายใจ หรือการเต้นของหัวใจ ถ้าชีพจรอ่อนให้ทำการปั้มหัวใจช่วยชีวิต หรือ CPR และแจ้งไปที่เบอร์สายด่วนศูนย์แพทย์ฉุกเฉิน โทร. 1669 

ค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน กระทบต่อสุขภาพระดับไหน

อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ กรมควบคุมมลพิษ ได้คำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีนในพื้นที่ไฟไหม้ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ดำเนินการคำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน โดยใช้ Box Model ซึ่งใช้ข้อมูลอัตราการระบายจากแหล่งกำเนิด มาประมวลผลร่วมกับสภาพอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่ โดยคำนวณจากรัศมี ใน 3 ระยะ ได้แก่     

ระยะ 1 กิโลเมตร 3 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตร ซึ่งจากการคำนวณจะได้ค่าความเข้มข้นของสารสไตรีน ดังนี้

รัศมี 1 กิโลเมตร มีค่า 1,035.47 ppm

รัศมี 3 กิโลเมตร มีค่า 86.43 ppm

รัศมี 5 กิโลเมตร มีค่า 51.77 ppm

ทั้งนี้ ประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่อง ค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน กำหนดค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีนไว้ 3 ระดับ ได้แก่ 

ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm 

(ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน)

ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm 

(ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง)

ระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm 

(ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต)

ชุมชนเมืองท่ามกลางโรงงานนิคมอุตสาหกรรม 

ข้อมูลจาก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ที่ได้เปิดภาพจากดาวเทียม Landsat 5, Sentinel 2 และไทยโชต แสดงให้เห็นพื้นที่ตั้งโรงงานและบริเวณโดยรอบ โดย GISTDA ได้เปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ย้อนหลัง 30 ปี โดยแบ่งเป็นช่วงเริ่มจากปี 2533, 2547, 2553 และ 2564 ตามลำดับ 

จากภาพจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บริเวณพื้นที่โดยรอบที่ตั้งโรงงานดังกล่าว มีการขยายตัวเมืองอย่างรวดเร็ว และมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นมากมาย อาทิ สนามบินสุวรรณภูมิ หมู่บ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ  จนกลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่อยู่ล้อมรอบโรงงาน

สารเคมีไม่ใช่ตัวร้าย แต่ตัวที่ร้ายที่สุดคือ...

ในงานเสวนาออนไลน์หัวข้อ "เปิดมุมมองวิศวกรรมเพื่อการป้องกันและรับมืออุบัติเหตุสารเคมีในอนาคต" โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาในการควบคุมพื้นที่และแก้ไขพื้นที่โดยรอบไม่ต่ำกว่า 2-3 อาทิตย์หรือประมาณ 1 เดือน ซึ่งตนจะนำปัญหาทั้งหมดเข้าไปพูดคุยในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ส่วนตัวมองปัญหาในเชิงกฎหมาย เชิงมาตรการ การปฏิบัติในการควบคุม เพราะยังมีจุดอ่อนในข้อกฎหมาย ระเบียบ ความเอาจริงเอาจังของหน่วยงานและผู้ปฏิบัติ และมาตรการที่ชัดเจนสำหรับผู้ประกอบการ การเผชิญเหตุที่ต้องดีกว่านี้ ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี ความรู้ทางวิศกรรม และความรู้ทางสารเคมี 

"ความจริงเรื่องสารเคมี ถ้าเรารู้เขา เราก็จะรู้วิธีการควบคุมได้ สารเคมีไม่ใช่ตัวร้าย แต่ตัวที่ร้ายที่สุดคือคนทั้งผู้ผลิต ผู้ตรวจสอบ ผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความรุนแรง เพราะเป็นความเสียหายที่รุนแรงเกินรับได้ มีการเสียชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและงบประมาณเสียหายมากมาย เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะทุกครั้งที่เกิดเหตุทุกคนก็พูดแบบนี้สุดท้ายก็เงียบไป" อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว 

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ตนขอให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทุกฉบับ เช่น พ.ร.บ.โรงงานฯ พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ พ.ร.บ.อาคารฯ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม มีการพูดคุยถึงระบบ PRTR หรือการเปิดเผยข้อมูลสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งก็มีพ.ร.บ.โรงงานฯกำกับเรื่องนี้ ต้องมาดูว่ากฎหมายที่มีอยู่ใช้ได้หรือทำได้จริงหรือไม่ สามารถทำฐานระบบข้อมูลได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามระเบียบได้หรือไม่ 

ดังนั้น ต้องมาดูว่ากฎหมายพร้อม ผู้ปฏิบัติพร้อม คนบังคับใช้กฎหมายพร้อม มีการเอาจริงเอาจัง ก็จะลดความสูญเสียหรือถ้าเกิดเหตุชุดเผชิญเหตุสามารถเข้าถึงได้รวดเร็ว ความเสียหายและความสูญเสียน้อยก็จะน้อย ทั้งหมดจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

น้ำใจจากคนไทย ไม่เคยทิ้งกัน

จากสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ไฟไหม้ในครั้งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเจนเลยคือความมีน้ำใจของคนไทย ที่ไม่ว่าจะได้รับความเดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลือ ประชาชนคนไทยมักจะหยิบยื่นมือเข้าไปช่วย ใครลงพื้นที่ได้ก็อาสาเข้ามาช่วยเรื่องดับไฟหรือการอพยพชาวบ้าน ส่วนใครไม่สะดวกลงพื้นที่ก็ช่วยกันส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ข่าวสารสำคัญๆ กันผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทั้งความคืบหน้าเหตุไฟไหม้ การอพยพออกจากพื้นที่ หน่วยงานที่อำนวยความสะดวกช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ข้อควรระวังจากเหตุไฟไหม้ หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน ทุกคนต่างพร้อมใจช่วยส่งต่อข้อมูลที่เป็นสำคัญๆ เพื่อให้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทราบข่าว

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลย นั่นคือ จากแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ ที่มีการทวิตข้อความผ่านแฮชแท็ก #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ มากกว่า 1 ล้านทวิตเลยทีเดียว หรือแม้แต่เพจเฟซบุ๊กหลายๆเพจ ต่างก็ช่วยกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลในการช่วยเหลือ ไม่เพียงแค่ประชาชนเท่านั้น ยังมีน้ำใจไปยังสัตว์เลี้ยง มีการรวบรวมสถานที่ดูแลสัตว์เลี้ยงฟรี สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ เรียกว่าช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือในยามที่คนในประเทศเดือดร้อนกันจริงๆ

รู้จักเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย

เหตุการณ์โรงงานไฟไหม้ในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สินแล้วนั้น ยังสะท้อนไปยังเรื่องกระบวนการตรวจสอบสถานที่ตั้งโรงงานและความปลอดภัย เมื่อโรงงาน ชุมชน สถานที่พักอาศัย อยู่ใกล้กันมากถึงเพียงนี้ หลายๆ คนต้องตระหนักและมองเห็นถึงความสำคัญ ก่อนที่ในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นซ้ำรอยเดิม เพราะเรื่องแบบนี้...คงไม่มีอยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน




ข่าวที่เกี่ยวข้อง