รีเซต

หมู่เลือดมีผลเสี่ยงโควิด! นักวิทย์พบหลักฐานชี้ชัดจากห้องแล็ป

หมู่เลือดมีผลเสี่ยงโควิด! นักวิทย์พบหลักฐานชี้ชัดจากห้องแล็ป
ข่าวสด
4 มีนาคม 2564 ( 15:50 )
1.5K
หมู่เลือดมีผลเสี่ยงโควิด! นักวิทย์พบหลักฐานชี้ชัดจากห้องแล็ป

หมู่เลือดมีผลเสี่ยงโควิด! - วันที่ 4 มี.ค. ยูเอสนิวส์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 2 (SARS-CoV-2) ตัวการก่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 อาจมีความสามารถในการติดต่อสู่มนุษย์ที่มี "หมู่โลหิตเอ" มากกว่าหมู่อื่นๆ

 

ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสารการแพทย์ด้านโลหิตวิทยา Blood Advances เมื่อ 3 มี.ค. 2564 สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงการแพทย์ เนื่องจากเป็นอีกหลักฐานที่บ่งชี้ว่า หมู่เลือด อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 หลังพบว่าไวรัสชนิดนี้มีความสามารถในการจับกับเซลล์ในระบบทางเดินหายใจของผู้มีเลือดกรุ๊ปเอมากกว่ากรุ๊ปอื่นอย่างมีนัยสำคัญ

 

การศึกษาดังกล่าวนักวิจัยพุ่งเป้าไปที่ส่วนที่ไวรัสใช้จับกับเซลล์เป้าหมาย เรียกว่า receptor binding domain หรืออาร์บีดี โดยประเมินประสิทธิภาพในการจับกับเซลล์ระบบทางเดินหายใจมนุษย์ที่มีหมู่โลหิต เอ บี โอ และเอบี เทียบกับเซลล์เม็ดเลือดแดงจากคนเลือดกรุ๊ปเอ บี โอ และเอบี

 

ผลที่ได้พบว่า ไวรัสชนิดนี้มีความสามารถจับกับเซลล์ระบบทางเดินหายใจมนุษย์ที่มีหมู่โลหิต เอ ได้มากกกว่าหมู่โลหิตอื่น ส่วนในเซลล์เม็ดเลือดแดงนั้นไม่มีผลแตกต่าง ส่งผลให้คณะวิจัยสรุปว่า อาจช่วยอธิบายความเชื่อมโยงกลไกการติดเชื้อของผู้มีหมู่โลหิตเอได้

 

นายแพทย์ฌอน สโตเวลล์ ผู้นำคณะวิจัยจากโรงพยาบาลสตรี นครบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การพบว่าไวรัสชนิดนี้ชื่นชอบแอนตีเจนเอ ที่พบในเนื้อเยื่อทางเดินหายใจเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะคาดว่าน่าจะเป็นกลไกการติดเชื้อหลักที่เกิดขึ้น

 

"กรุ๊ปเลือดเป็นอุปสรรคครับ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนสืบทอดกันมา เราไม่สามารถไปเปลี่ยนอะไรมันได้ แต่หากเรามีความเข้าใจกลไกการติดเชื้อของไวรัสว่าเกี่ยวโยงกับกรุ๊ปเลือดก็น่าจะทำให้หาวิธีป้องกันได้ดีขึ้นครับ" นพ.สโตเวลล์ ระบุ

 

อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัย ระบุว่า การวิจัยนี้ไม่สามารถนำมาพยากรณ์การเกิดโรคได้ทั้งหมด เนื่องจากกลไกการติดเชื้อของไวรัสชนิดนี้มีมากกว่าที่กล่าวถึงในการวิจัย

 

"การสังเกตลักษณะผลลัพธ์ที่ได้จากการศึกษานี้ ไม่ใช่กลไกเดียวที่เกิดขึ้นเวลาไวรัสมันเข้าสู่ร่างกายเราครับ แต่มันน่าจะช่วยอธิบายอิทธิพลของกรุ๊ปเลือดว่ามีผลต่อการติดเชื้อมากน้อยได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง