สธ.ชี้โควิดระบาดทรงตัว ห่วงเตียงไอซียูไม่พอ เร่งขยายเพิ่มเตรียมพร้อมรับมือ
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย หากพิจารณาเส้นกราฟผู้ติดเชื้อเหมือนจะทรงตัว แต่งานหนักยังคอยอยู่ในการลดการระบาดให้มากขึ้น และการคัดกรองเชิงรุกพบ 231 ราย อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมของประเทศในแต่ละวัน คู่ขนานกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
“แปลความว่า ในต่างจังหวัดสถานการณ์ค่อนข้างคงตัว จุดสำคัญถ้าจะลดการระบาด คือ ต้องจัดการพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะกลุ่มก้อนใหญ่ อย่างชุมชนแออัดหลายชุมชน โดยหากเราควบคุมสถานการณ์ได้ และพี่น้องประชาชนร่วมมือกัน เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมมือกันทั้งหมดจะควบคุมสถานการณ์ได้” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า วันนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อ 563 ราย ส่วนปริมณฑล 249 คน ดังนั้น กทม. และปริมณฑลจะพบ 956 ราย แต่จังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่กว่า 58 จังหวัด มีผู้ป่วยไม่ถึง 20 ราย แสดงว่าสถานการณ์ต่างจังหวัดน่าพอใจ แม้จะพบผู้ป่วย แต่มาตรการติดตามค้นหายังทำได้ดี ต่างจังหวัดค่อนข้างเบาใจได้ แต่ก็ต้องเคร่งครัดมาตรการต่างๆ เช่นเดิม ทั้งมาตรการส่วนบุคคล องค์กร ชุมชน ฯลฯ
“ผู้ติดเชื้อสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มทยอยหายดีขึ้น อัตราการหายอยู่ที่กว่าร้อยละ 95 ดังนั้น หากเป็นแบบนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ สถานการณ์การรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ส่วนสถานการณ์เตียงของกรุงเทพฯและปริมณฑล จะเห็นว่า ผู้มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการจะไม่มีปัญหา เพราะมี รพ.สนาม มีฮอสปิเทล แต่ที่ต้องจับตาผู้ป่วยสีแดง ซึ่งต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและต้องอยู่ห้องไอซียู ขณะนี้มีเตียงไอซียูรองรับได้อยู่ 173 เตียง หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ยังพอรับได้ แต่ปลัด สธ.ได้สั่งการให้เพิ่มศักยภาพ รพ. ให้จัดหาเตียงไอซียูเพิ่มเติม ส่วนผู้อาการปานกลางสีเหลือง ได้ให้ รพ.ในสังกัด สธ.เพิ่มศักยภาพ ซึ่งขณะนี้เพิ่มอีก 2,000 กว่าเตียง ส่วนศูนย์แรกรับส่งต่อ อาคารนิมิบุตร ของ สธ. โดยข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤษภาคม เวลา 18.00 น. ได้มีการส่งเข้ารักษาสำเร็จได้ 239 ราย คิดเป็น ร้อยละ 96.8 จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ตรวจไปแล้วเกือบ 5 ล้านตัวอย่าง บางวันขึ้นไปถึง 70,000 ตัวอย่างต่อวัน โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 หมื่นตัวอย่างต่อวัน อย่างวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาตรวจไปแล้ว 41,357 ตัวอย่าง โดยเฉพาะการตรวจเชิงรุก ตรวจไปแล้ว 10,729 ตัวอย่าง พบผู้ติดเชื้อร้อยละ 2 และภาพรวมพบผลบวกร้อยละ 4 ซึ่งแนวโน้มการติดเชื้อเริ่มน้อยลง แต่ก็ต้องพิจารณาข้อมูลหลายส่วนพร้อมกัน
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนเหตุการณ์การระบาดกลุ่มก้อนใหญ่ จ.สมุทรปราการ มาจากผู้ป่วยรายแรกเป็นคนงานในโรงงานติดเชื้อ แล้วมาติดเชื้อเพื่อนร่วมงาน 2 คน และเมื่อเข้าไปทำงานในโรงงานต่อ ซึ่งความเสี่ยงคือ ผู้ติดเชื้อต้องพบเจอผู้คนหลายแผนก ขณะเดียวกัน การกินอาหารก็ต้องถอดหน้ากากอนามัย ซึ่งการกินอาหารก็จะมีการพูดคุยกับเพื่อน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง และโรงงานนี้ไม่มีมาตรการเคร่งครัดในสุขอนามัยมากนัก ยังพบว่ามีการใช้แก้วน้ำร่วมกันใบเดียวในการกดน้ำดื่ม โดยโรงงานจะถูกปิดทำความสะอาด และคัดกรองผู้ติดเชื้อ หาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไปกักตัว ตรงนี้จึงเป็นสิ่งเตือนใจว่า แต่ละโรงงานขอให้เคร่งครัดมาตรการ คอยตรวจตราพนักงานของท่าน ขอให้งดสังสรรค์ในกลุ่มเล็กๆ เพราะผับบาร์ปิด แต่ไปจัดกิจกรรมกลุ่มเล็กๆกันในบ้านทั้งนี้ กรณีคลัสเตอร์สมุทรปราการก็จะคล้ายๆ จ.ระนอง ซึ่งคนที่ไปพบคนหมู่มาก จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยมากๆ 2 เหตุการณ์นี้คล้ายกัน
“ขณะนี้ พบการติดเชื้อคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานสูงถึง ร้อยละ 54 ดังนั้น ทุกองค์กร หรือครอบครัวขอให้สวมหน้ากากอนามัยให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะในที่ทำงานขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และอย่ากินข้าวร่วมกัน และอยู่ในบ้านที่มีผู้สูงอายุ ขอให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องพบกัน เพราะหากทำได้จะลดผู้ติดเชื้อได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งในสัปดาห์ต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว