รีเซต

ฝันร้าย 'แรงงานในระบบ' โควิด ทำโรงงานปิด แต่ชีวิตต้องดิ้นรน

ฝันร้าย 'แรงงานในระบบ' โควิด ทำโรงงานปิด แต่ชีวิตต้องดิ้นรน
มติชน
27 พฤษภาคม 2563 ( 05:12 )
328
ฝันร้าย 'แรงงานในระบบ' โควิด ทำโรงงานปิด แต่ชีวิตต้องดิ้นรน

 

ถูกมองว่ามีรายได้มั่นคง ไม่ได้รับความเดือดร้อนเท่าไหร่ ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ‘แรงงานในระบบ’ จึงไม่อยู่ในข่ายรับเงินเยียวยา 5 พันบาทของรัฐบาล ทว่าบางคนชีวิตพลิกผัน โรงงานสั่งหยุดงานไม่มีกำหนด ไม่เยียวยา ค่าตอบแทนก็เลื่อนๆ แล้วเลื่อนอีก

 

ดั่งชะตากรรมสาวโรงงานกลุ่มนี้ ที่ประสบภาวะเดือดร้อนจนต้องไปเรียกร้องกระทรวงแรงงาน ขอให้ช่วยเหลือเจรจากับนายจ้าง บริษัท นครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด

 

สุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง เล่าถึงสภาพปัญหาว่า จริงๆ โรงงานมีปัญหามาก่อนสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด เนื่องจากไม่มีออเดอร์เข้ามา ทำให้เริ่มจากการจ่ายจ้างล่าช้ากว่ากำหนด จ่ายไม่เต็มค่าจ้าง จนเข้าสู่สถานการณ์ไวรัสระบาด โรงงานเริ่มเอาเครื่องจักรไปขาย คราวนี้ไม่จ่ายเลย และสั่งหยุดงานปากเปล่าไม่มีกำหนด

 

เป็นเวลา 2 เดือนแล้วที่ 180 พนักงานโรงงานถุงเท้าดัง ไม่ได้รับค่าจ้างและเงินเยียวยาอะไรเลย ไหนจะมีเงินสะสมพนักงานที่เป็นสวัสดิการพนักงานที่เกษียณและลาออกก็หายไป ส่วนจะไปขอเงินชดเชยรายได้จากสำนักงานประกันสังคม ก็พบว่านายจ้างขาดจ้างเงินสมทบประกันสังคมมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ให้แก่พนักงาน

 

ท่ามกลางเจ้าหนี้ที่ยืนรออยู่ข้างหน้า และไม่มีท่าทีว่าจะอะลุ้มอล่วย ทำให้เหล่าพนักงานเกิดความเครียด กระทั่งพนักงานบางคนต้องเวียนเอาข้าวเก่า ซึ่งมีสภาพบูดแล้วมาต้มกินใหม่ประทังชีวิต พวกเขากำลงอยู่ในสภาพอดตาย จนต้องแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านการตั้งวงกินข้าวคลุกน้ำปลา

 

 

ยุพิน ใจตรง อายุ 42 ปี ชาวจังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในพนักงานที่มาเรียกร้อง เธอทำงานมา 23 ปี ยอมรับตรงๆ ไม่คิดชีวิตจะมาเป็นอย่างวันนี้ เพราะย้อนอดีตไปโรงงานแห่งนี้ใหญ่โต ดูดีมาก ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำงาน แต่วันนี้เธอและสามีรับสภาพว่าคงต้องตกงานแน่

 

  “พอมาเกิดปัญหาอย่างนี้ ประกอบกับสถานการณ์โควิด ลูกก็โทรบอกว่าแม่กลับบ้านเราเถอะ แต่ดิฉันอยากสู้อีกสักนิด รักษาสิทธิที่เราควรได้”

 

แม้จะอยู่กับความเครียดและความยากลำบาก แต่เธอก็พูดหนักแน่นว่า “ไม่คิดสั้นแน่นอน เพราะมีลูกและแม่รออยู่” ตอนนี้เธอและเพื่อนๆ พนักงาน ดิ้นรนหาเงินด้วยการทำพรมเช็ดเท้าขายราคา 10-20 บาท หาเงินประทังความเดือดร้อนไปก่อน

 

แต่ที่น่าเห็นใจสุดๆ คงเป็น 80 พนักงานข้ามชาติของโรงงานถุงเท้าดังกล่าว ที่นอกจากไม่ได้เงินค่าจ้างจากนายจ้างแล้ว จะไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือกับสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ได้ เพราะนายจ้างไม่ทำประกันสังคมให้ เป็นความว่างเปล่าที่เจ็บปวดสุดๆ

 

วา วา ทวย สาวเมียนมาอายุ 29 ปี เธอทำงานมากว่า 5 ปี ขณะนี้ตั้งครรภ์ 4 เดือน กำลังใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ตัวสามีกลับเมียนมาเพื่อไปต่อสัญญาทำงาน ตอนแรกคิดว่าไปเดี๋ยวเดียวก็กลับมาหาภรรยาได้ แต่สถานการณ์โควิด-19 มีการสั่งปิดพรมแดน ทำให้สามีกลับมาไม่ได้ ตัวเธอเองก็กลับประเทศบ้านเกิดไม่ได้เช่นกัน

 

วา วา ทวย เล่าพลางเอามือลูบท้องว่า รู้สึกเสียใจมากที่ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ ชีวิต 2 เดือนที่ผ่านมาลำบากมาก ไม่มีรายได้ จะไปหางานอื่นทำก็ไม่ได้ ไม่มีใครรับ ต้องอยู่โดยกู้เงินนอกระบบมาประทังค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าหมอ ซึ่ง 2 เดือนนี้นอกจากเงินเก็บสะสมจะหมดไป เธอยังกู้หนี้ยืมสินถึง 8,000 บาทแล้ว

 

  “พอไม่มีรายได้ ดิฉันแทบไม่อยากไปหาหมอเลยเวลานัดตรวจครรภ์ เพราะต้องใช้เงิน จะใช้สิทธิประกันสังคมก็ไม่ได้ เพราะนายจ้างไม่ทำให้ จะกลับประเทศบ้านเกิดก็ทำไม่ได้ เพราะปิดพรมแดน” วา วา ทวยเล่าด้วยสีหน้าเศร้า

 

วา วา ทวยเล่าทิ้งท้ายว่า รู้สึกกังวลชีวิตตนเองและลูกในครรภ์จากนี้ เราจะใช้ชีวิตอย่างไร พยายามพูดกับลูกตลอด ขอให้ช่วยแม่ก่อนนะ เรามาช่วยกัน แม่จะดูแลหนูให้ดีที่สุด หนูต้องไม่เป็นอะไร แต่หนูต้องดูแลแม่ด้วยนะ

 

ความเดือดร้อนที่รอการช่วยเหลือ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง