รีเซต

เปิดปฏิบัติการคัดกรองเชิงรุก ‘พระภิกษุ-สามเณร’ วัดชลประทานฯ ด้วย ATK

เปิดปฏิบัติการคัดกรองเชิงรุก ‘พระภิกษุ-สามเณร’ วัดชลประทานฯ ด้วย ATK
TeaC
11 สิงหาคม 2564 ( 13:22 )
84

ข่าววันนี้ สปสช.จับมือ “ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน” เปิดปฏิบัติการตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 แก่พระภิกษุสงฆ์-สามเณร-ประชาชน ในพื้นที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ “แพทย์หัวหน้าทีม” ระบุ หากผลเป็นบวก สามารถเข้าระบบ “HI-CI” ได้


 
คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. และนายแพทย์อภิชาติ  รอดสม รองเลขาธิการสปสช.ลงพื้นที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุกโควิด-19 ให้กับพระภิกษุสามเณร  และบุคลากรวัดชลประทานรังสฤษฏ์  และพระภิกษุวัดใกล้เคียง โดยมี นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค รองผู้อำนวยการฝ่ายสำนักศูนย์ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้นำทีมตรวจ

 

สำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกครั้งนี้ ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 500 ราย แต่ได้มีการประเมินเผื่อไว้ในกรณีที่มีพระสงฆ์ สามเณร และประชาชนนอกพื้นที่ที่จะเข้ามาตรวจด้วย โดยคาดว่าจะมีทั้งสิ้นประมาณ 800 ราย ซึ่งได้มีการเตรียมชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อรองรับอย่างเพียงพอ

 

นพ.ธนวัฒน์ เปิดเผยว่า วัดชลประทานฯ เป็นพระอารามหลวง มีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรทั้งที่อยู่ประจำและเวียนเข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ทางพระปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานสฤษดิ์ เห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ จึงอยากให้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก ซึ่งจะครอบคลุมทั้งพระสงฆ์ สามเณร ประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัด ตลอดจนประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่วัด

 

 

นอกจากนี้ ทางเจ้าอาวาสวัดชลประทานฯ ยังได้ปรึกษากับรองเจ้าคณะจังหวัดเพื่อประกาศเชิญพระสงฆ์และสามเณรใน จ.นนทบุรี ที่ต้องการตรวจคัดกรอง ให้เดินทางมาตรวจได้ที่วัดชลประทานฯ โดยการตรวจครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างวัดชลประทานฯ เทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี โรงพยาบาลชลประทาน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

นพ.ธนวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพระสงฆ์และสามเณรที่ตรวจคัดกรองแล้วมีผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) หากเป็นกลุ่มอาการสีเขียวและได้รับการประเมินแล้วว่าสภาพกุฏิหรือสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสม ก็สามารถรักษาตัวผ่านระบบ Home isolation ได้ แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ก็จะมีการส่งต่อไปรักษาด้วยระบบ Community isolation ที่วัดกู้ จ.นนทบุรี ซึ่งกำลังพัฒนาเป็น Community isolation สำหรับพระสงฆ์และสามเณรโดยเฉพาะ ส่วนกรณีที่เป็นพระสงฆ์และสามเณรที่อยู่นอกพื้นที่ก็จะมีระบบส่งต่ออย่างเป็นระบบต่อไป

 


สำหรับประชาชน ได้มีการประสานการทำงานกับเทศบาลนครปากเกร็ด โดยผู้ที่ผลตรวจเป็นบวกและอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียวที่อยู่ในพื้นที่ปากเกร็ด ก็สามารถเข้ารักษาด้วยระบบ Home-Community isolation ได้ทันที แต่ในกรณีที่เป็นประชาชนนอกพื้นที่ ก็จะมีการประสานงานกับทาง สปสช. เพื่อส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามระบบต่อไป

 

“การตรวจคัดกรองครั้งนี้ทาง สปสช. ได้มีการสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจร รวมไปถึงโรงพยาบาลชลประทานก็เตรียมอุปกรณ์ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบปลายนิ้ว และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งพระสงฆ์ และประชาชนในกรณีต้องรักษาตัวด้วยระบบ Home isolation” นพ.ธนวัฒน์ กล่าว

 

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองเชิงรุกนี้ นอกจากทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึงการตรวจได้ง่ายแล้ว หากกรณีพบผลเป็นบวกก็ยังทำให้ผู้ป่วยสามารถลงทะเบียนเข้าระบบ Home Isolation ได้ทันที และหากมีอาการก็จะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของผู้ป่วยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง

 

สำหรับการเข้าระบบ Home Isolation สามารถทำได้ 2 วิธี คือผ่านสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 และลงทะเบียนเข้าระบบผ่านเว็บไซต์ https://crmsup.nhso.go.th/ โดยขณะนี้สายด่วน 1330 มีการเพิ่มคู่สายเป็น 2,100 คู่สายต่อวัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากในกรณีที่คู่สายเต็ม เบอร์ที่โทรเข้ามาก็จะถูกเข้าคิวไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการติดต่อกลับในภายหลัง

 

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปสช. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เพื่อแจกให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยตัวเอง ในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. นี้ และหากไม่เพียงพอก็จะจัดหาเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ด้วย โดย สปสช. พร้อมสนับสนุนการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะแยกตัวผู้ป่วยออกมาดูแลรักษาได้อย่างเร็วที่สุด

 

สำหรับหน่วยบริการหรือคลินิกเอกชนที่ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวในระบบ HI หรือให้บริการตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK สามารถเบิกค่าบริการจาก สปสช.ได้ โดยกรณีตรวจด้วยเทคนิค Chromatography จ่ายตามจริงไม่เกิน 450 บาท/ครั้ง และกรณีตรวจด้วยเทคนิค Fluorescent Immunoassay (FLA) จ่ายตามจริงไม่เกิน 550 บาท/ครั้ง

 


สำหรับวันนี้ นพ.อภิชาติ รอดสม  รองเลขาธิการสปสช.และ นพ.นพ.ธนวัฒน์ อุณหโชค รองผู้อำนวยการฝ่ายสำนักศูนย์ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นผู้นำทีมรับมอบข้าวกล่อง จากความร่วมมือของ True ID และโลตัส ร่วมกับ สปสช. สนับสนุนอาหารพร้อมทาน ให้กับบุคลากรและจิตอาสาด่านหน้าในการตรวจค้นหาเชิงรุก ณ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ จ.นนทบุรี

 

 

 

 

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง