รีเซต

สธ.จ่อชง ศบค.ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ชี้ความเสี่ยงไม่ต่างกับ 14 วัน แต่ประหยัด

สธ.จ่อชง ศบค.ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ชี้ความเสี่ยงไม่ต่างกับ 14 วัน แต่ประหยัด
มติชน
16 ตุลาคม 2563 ( 15:37 )
239
สธ.จ่อชง ศบค.ลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน ชี้ความเสี่ยงไม่ต่างกับ 14 วัน แต่ประหยัดได้ 1 ใน 3

 

วันนี้ (16 ตุลาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ประชาชนยังคงให้ความสนใจสูงในการป้องกันควบคุมโควิด-19 ซึ่งวันนี้จะพูดถึงการควบคุมโรคที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หลังจากพบพนักงานขับรถชาวเมียนมาติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 3 ราย ขณะนี้พื้นที่ อ.แม่สอด ร่วมหลายหน่วยงานปรับการขนส่งระหว่างไทย-เมียนมา ให้ขนส่งเฉพาะบริเวณชายแดนเท่านั้น ไม่ให้เคลื่อนย้ายเข้าเขตเมือง ร่วมกับการคัดกรองพนักงานขับรถอย่างเข้มข้นรวม 257 ราย ผู้โดยสาร 28 ราย ยังไม่พบการติดเชื้อ พร้อมทั้งนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน จำนวน 5 คัน

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 12-16 ตุลาคม เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) รวม 4,680 ตัวอย่าง โดยผลออกมาแล้ว 2,280 ตัวอย่าง ให้ลบทั้งหมด และส่วนที่เหลือจะรายงานผลในวันนี้ แต่คาดว่าจะให้ผลลบเช่นกัน เพราะหากเจอผลบวก ก็จะต้องมีการรายงานผลมาทันที แต่หากไม่มีผลบวกก็จะทำการรายงานผลตามกระบวนการต่อไป

 

“เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คนแม่สอด ผมเชื่อว่าขณะนี้คนแม่สอดไม่กลัวโควิด-19 แล้ว สังเกตได้จากเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม มีมาตรวจเกือบถึง 3,000 ราย แต่เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม มีประชาชนมาเก็บตัวอย่างกับรถพระราชทานเหลือเพียง 200 กว่าราย และศูนย์พักพิงชั่วคราวในบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นชุมชนหนาแน่น ก็จะมีทีมไปให้ความรู้ ประเมินความเสี่ยง และในวันที่ 18 ตุลาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. จะลงพื้นที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวแม่สอด แผนการต่อไปคือ ในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเมียนมา เช่น อ.อุ้มผาง อ.ท่าสองยาง จะมีการพัฒนาศักยภาพในการคัดกรองให้ได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในการเตรียมการ ทำความเข้าใจต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

 

 

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. มอบให้กรมควบคุมโรคจัดทำข้อเสนอทางวิชาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะมีการพิจารณาลดเวลากักตัวจาก 14 วัน

 

“จากการเรียนรู้โควิด-19 มากขึ้น พบว่า เมื่อเวลาในการกักตัวมาก ก็จะป้องกันการแพร่เชื้อได้มาก เนื่องจากผู้อยู่ในการกักตัวจะไม่ออกไปแพร่เชื้อ แต่ในระยะเวลากักตัว 10 วัน ไปจนถึง 14 วัน โอกาสในการแพร่เชื้อจะไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ไม่แตกต่างกันมาก ในหลายประเทศเปลี่ยนนโยบายลดเวลาเหลือ 10 วัน เช่น ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สโลวีเนีย ลัตเวีย บางประเทศเหลือ 7 วัน เช่น เบลเยียม ฝรั่งเศส และบางประเทศมีเงื่อนไขพิเศษประกอบ เช่น จำกัดประเทศ มีผลตรวจ RT-PCR ไม่พบเชื้อ และไม่ต้องกักตัว เช่น สเปน สหรัฐอเมริกา สวีเดน มัลดีฟส์ บลาซิล สหราชอาณาจักร ลักเซมเบิร์ก แอฟริกาใต้ โปรตุเกส” นพ.โสภณ กล่าวและว่า นโยบายต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศนั้นๆ รวมถึงความจำเป็นในการดูแลผู้เดินทางเข้าประเทศให้อยู่ในสถานที่ป้องกันการแพร่เชื้อได้ดี ซึ่งจะต้องอาศัยข้อมูลวิชาการ

 

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับการปรับนโยบายกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศไทย จากข้อมูลการศึกษา ทางระบาดวิทยา การสร้างแบบจำลอง นโยบายจากต่างประเทศ การลดวันกักตัวจาก 14 วัน เป็น 10 วัน น่าจะมีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน แม้การลดวันกักตัวจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่สามารถเพิ่มมาตรการป้องกันความเสี่ยงในผู้ติดเชื้อ โดย 1.เลือกดำเนินงานในประเทศที่ควบคุมโรคได้ดีก่อน เป็นการนำร่อง 2.ก่อนการเดินทางจะต้องตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงอีกเพิ่มขึ้น 3.เมื่อมาถึงประเทศไทยและเข้าสถานกักกัน 10 วัน จะต้องตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ด้วย RT-PCR และ 4.เมื่อออกจากสถานกักกันแล้วจะต้องคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคลต่อไปอีก 14 วัน ทั้งนี้ การลดเวลากักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน จะช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้เกือบ 1 ใน 3 ด้วยข้อมูลเหล่านี้ จึงมีการเตรียมเสนอเรื่องนี้ต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าในประเทศที่ลดระยะเวลากักตัวแล้วมีการรายงานผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า การลดเวลากักตัว จะเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อย หรืออาจไม่มีการเพิ่มขึ้นในผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ประเทศที่มีนโยบายลดเวลากักตัวจะมีการติดตามผลดำเนินงาน เมื่อไม่พบการติดเชื้อจึงลดเวลากักตัวลงอีกจาก 10 เป็น 7 วัน จะเห็นได้ว่า หากประเทศไทยจะเริ่มต้นมาตรการดังกล่าวจะต้องติดตามผู้ที่ออกจากสถานกักกันที่อยู่ครบ 10 วันแล้ว ด้วยการลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นติดตามตัว ในกรณีที่พบผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น ก็จะสอบสวนหาความเชื่อมโยงจากเกี่ยวข้องกันหรือไม่ และหากไม่พบการป่วยหลังจากกักตัว 10 วัน ก็จะพอสรุปได้ว่า 10 วัน ปลอดภัยและเพียงพอ และในต่างประเทศยังไม่พบการรายงานว่ามีระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง