รีเซต

ศบค.เผยทิศทางโควิดติดเชื้อ-ป่วยหนักลดลง ชี้อีสานดับสูงสุด 19 ราย กว่า 60% ยังไม่ฉีดวัคซีน

ศบค.เผยทิศทางโควิดติดเชื้อ-ป่วยหนักลดลง ชี้อีสานดับสูงสุด 19 ราย กว่า 60% ยังไม่ฉีดวัคซีน
มติชน
5 พฤษภาคม 2565 ( 13:52 )
39
ศบค.เผยทิศทางโควิดติดเชื้อ-ป่วยหนักลดลง ชี้อีสานดับสูงสุด 19 ราย กว่า 60% ยังไม่ฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า เมื่อเช้านี้ได้มีการประชุมสรุปผลการเตรียมความพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UHPR โดยได้มีการถอดบทเรียนความสำเร็จ มาจาก 5 ปัจจัยสำคัญได้แก่ ผู้บริหารประเทศ ระบบหลักประกันสุขภาพ/ปฐมภูมิ ความร่วมมือทุกภาคส่วน ประชาชนและชุมชนเข้มแข็ง และการใช้เทคโนโลยี ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้แจ้งว่ายินดีที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับประเทศไทย ที่นำร่องในการทบทวนปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้นในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยวันนี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก คือ มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยผู้ติดเชื้อที่รายงานผลด้วย RT-PCR มี 9,790 ราย และเอทีเค 8,728 ราย จะเห็นว่าจำนวนของผู้ติดเชื้อรายใหม่มีทิศทางลดลง สำหรับผู้ที่รักษาอยู่มี 101,281 ราย โดยที่กว่า 70,000 รายอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) สนาม หรือแยกกักที่บ้าน และอีก 31,227 ราย อยู่ในรพ. โดยที่ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 1,638 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอีก 776 ราย ก็จะพบว่าในการแอดมิดใน รพ. มีจำนวนน้อยลง ทำให้อัตราครองเตียง ของผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง-อาการหนักลดลงเหลือร้อยละ 20.1 จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีอาการหนัก ผู้ที่ใช้ท่อช่วยหายใจ มีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง และเรื่อยๆ เมื่อไปดูผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบใน รพ. 10 อันดับแรก จะเห็นว่า มีตัวเลขทรงๆ จะมีเพียง 2 จังหวัด ที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบมากขึ้นคือ จ.อุดรธานี 56 ราย และ จ.ขอนแก่น 51 ราย ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ใน 10 จังหวัด มีจำนวนลดลง

 

“สำหรับผู้เสียชีวิตในวันนี้ ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หรือ Die from Covid-19 มีทั้งหมด 54 ราย โดยที่กว่าร้อยละ 98 เป็นกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรัง โดยโรคที่พบบ่อย คือ ไตวายเรื้อรัง อ้วน หลอดเลือกสมอง หลอดเลือดหัวใจ และภาวะติดเตียง และมีรายงานพบผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ถึง 19 ราย และสำหรับประวัติการได้รับวัคซีนของผู้เสียชีวิต พบว่ามีถึงร้อยละ 61 ไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือได้รับเพียง 1 เข็ม และอีกร้อยละ 30 ได้วัคซีน 2 เข็ม และที่เหลือได้รับวัคซีน 3 เข็ม” พญ.สุมนี กล่าวและว่า สำหรับการฉีดวัคซีนทั้งหมดของประเทศไทยในวันนี้ มีทั้งหมด 134,175,785 โดส ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยแบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 56,343,422 ราย คิดเป็นร้อยละ 81 เข็มที่ 2 จำนวน 51,447,253 ราย คิดเป็นร้อยละ 74 และเข็มที่ 3 จำนวน 26,385,110 ราย คิดเป็นร้อยละ 37.9

 

 

พญ.สุมนี กล่าวว่า หากมาดูเป้าหมายหลักที่จะต้องรับวัคซีน ได้แก่ กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเป้าหมาย 12,704,543 ราย ซึ่งในจำนวนนี้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 10,700,064 โดส คิดเป็นร้อยลละ 84.2 เข็มที่ 2 จำนวน 10,159,655 โดส คิดเป็นร้อยละ 80 และเข็มที่ 3 จำนวน 5,303,655 โดส คิดเป็นร้อยละ 41.7 ซึ่งประชาสัมพันธ์ไปยังลูกหลานให้พาผู้สูงอายุมารับวัคซีน เพื่อให้ถึงเป้าหมายเข็มกระตุ้น หรือเข็มที่ 3 ที่ร้อยละ 60 ขึ้นไป

 

“จากการเก็บข้อมูลมาจากกรมควบคุมโรค ผู้ติดเชื้อ 328,480 รายนี้ เป็นผู้ที่มีอายุ 0-19 ปี 54,357 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 เมื่อมาแยกดูตามรายละเอีดยช่วงอายุ พบว่า เด็กช่วงอายุ 0-6 ปี ติดเชื้ออยู่ร้อยละ 6.62 ช่วงอายุ 7-12 ปี ติดเชื้ออยู่ร้อยละ 3.76 และช่วงอายุ 13-19 ปี ติดเชื้ออยู่ร้อยละ 4.04 ซึ่งการรายงานการติดเชื้อในเด็กยังมีพบอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งสำคัญคือการไปรับวัคซีน แม้ว่าติดเชื้อแล้วอาการอาจจะไม่รุนแรง แต่อาจจะภาวะลองโควิดในเด็กได้” พญ.สุมนี กล่าว

 

 

พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กช่วงอายุ 5-11 ปี มีเป้าหมายอยู่ 5,150,082 ราย รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 2,762,179 โดส คิดป็นร้อยละ 53.6 และเข็มที่ 2 จำนวน 732,349 โดส คิดเป็นร้อยละ 14.2 จะเห็นว่าอัตราการฉีดครอบคลุมทั้ง 2 เข็มยังน้อยอยู่มาก โดยอยากเน้นย้ำมาตรการก่อนเปิดเทอม ให้ฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดทั้งเด็กเล็กและเด็กโต และขอความร่วมมือโรงเรียน สถานศึกษาให้เปิดเรียนออนไซต์ให้มากที่สุดภายใต้มาตรการ Thai Stop Covid 2 Plus ของกรมอนามัย ซึ่งสูตรวัคซีนที่จะฉีดให้แก่เด็ก หากใช้วัคซีนซิโนแวค-ไฟเซอร์ ซึ่งจะห่างกัน 1 เดือน แต่ถ้าจะใช้สูตร ไฟเซอร์ – ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) ก็จะใช้ระยะเวลาห่างกันประมาณ 2 เดือน โดยในขณะนี้ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองให้พาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนให้ครบก่อนเปิดเทอมนี้

 

นอกจากนี้ พญ.สุมนี ยังกล่าวถึงระบบ Thailand Pass หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการ ว่า สำหรับการเข้าราชอาณาจักร เช้านี้ได้มีการรายงานในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ถึงจำนวนผู้ที่เข้ามาในระบบ Thailand Pass ช่วงวันที่ 29 เมษายน – วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 พบว่ามีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 213,958 ราย ได้รับการอนุมัติแล้ว 202,878 ราย ไม่ผ่านการอนุมัติ 3,456 ราย และจะเห็นว่ายอดของการอนุมัตินักเดินทางคิดเป็นร้อยละ 94.8 ซึ่งมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ การพิจารณาจะมีแค่ 2 เรื่อง คือ ใบรับรองวัคซีน และการตรวจสอบกรมธรรม์ประกันชีวิต และยังได้พัฒนาการตรวจใบรับรองวัคซีนผ่านระบบ AI โดยสามารถตรวจสอบและอนุมัติได้เลยแบบเรียลไทม์ แต่หากยื่นเป็นแบบใบเอกสารเข้ามาที่สนามบิน ก็จะใช้เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในการอนุมัติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง