รีเซต

ทำไมรัฐบาลสหราชอาณาจักรยังลังเลเรื่องฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาให้เด็กอายุ 12-15 ปี

ทำไมรัฐบาลสหราชอาณาจักรยังลังเลเรื่องฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาให้เด็กอายุ 12-15 ปี
ข่าวสด
5 กันยายน 2564 ( 15:42 )
50
ทำไมรัฐบาลสหราชอาณาจักรยังลังเลเรื่องฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาให้เด็กอายุ 12-15 ปี

เมื่อวันศุกร์ (3 ก.ย.) คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (JCVI) มีมติแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี 200,000 คน ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กในกลุ่มอายุเดียวกันที่มีสุขภาพดี โดยให้เหตุผลว่าในตอนนี้ ผลดีด้านสุขภาพที่จะได้จากการฉีดวัคซีนถือว่ายังน้อยเกินไป

 

 

และขณะนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังรอการตัดสินใจจากคณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (chief medical officers) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปอีกไม่กี่วัน

 

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลตัดสินใจให้วัคซีนคนกลุ่มอายุต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกันมาโดยตลอด

 

 

แม้เด็กจะมีความเสี่ยงติดโควิด แต่โอกาสที่พวกเขาจะล้มป่วยหนักมีน้อยมาก นั่นหมายความว่าต้องเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนในการให้วัคซีนแก่พวกเขา

Getty Images

 

แต่เหตุผลสำคัญที่ทางการยังลังเลคืออาการข้างเคียงหายากที่พบจากการฉีดวัคซีนอย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา

 

 

อะไรที่เรายังไม่รู้

ผลงานวิจัยที่ดูจากคนที่ได้รับวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา พบว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่คนจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) ซึ่งพบบ่อยกว่าในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชายหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการก็มักจะหายไปเองในไม่กี่วัน

 

 

ไม่มีวัคซีนหรือยาตัวไหนที่ปลอดภัย 100% แต่สถิติจากสหรัฐฯ พบว่าจำนวนเด็กที่เจอผลข้างเคียงน้อยมาก

 

 

ในจำนวนเด็กอายุ 12-17 ปี 1 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีราว 60 คนด้วยกันที่เจออาการข้างเคียงนี้ (8 คนในจำนวน 1 ล้านคนสำหรับเด็กผู้หญิง) อัตราเกิดอาการนี้สูงกว่าในหมู่เด็กอายุน้อยกว่า นั่นเป็นสาเหตุที่ตอนนี้ทางการแนะนำให้เด็กอายุ 16-17 ปี เข้ารับวัคซีนได้

 

 

แต่การติดโควิดก็ส่งผลต่อสุขภาพเด็กได้เหมือนกัน รวมถึงมีผลต่อหัวใจพวกเขาด้วย คำถามคือความเสี่ยงนั้นมากแค่ไหนกัน

 

 

"สิ่งสำคัญที่เรายังไม่รู้คือความเสี่ยงมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดโควิดเอง" ศ.นีล เฟอร์กูสัน ที่ปรึกษารัฐบาลและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าว

 

 

"หากเสี่ยงเท่า ๆ หรือมากกว่าจากการให้วัคซีน งั้นการให้วัคซีนก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า"

 

แต่นักวิชาการรายนี้บอกว่า ไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในระยะยาว

 

 

ที่อื่นทำอย่างไร

สหรัฐฯ มุ่งหน้าให้วัคซีนเด็กต่อ โดยตอนนี้ให้วัคซีนเด็กอายุ 12-15 มากกว่า 10 ล้านคนแล้ว โดยมั่นใจว่าความเสี่ยงจากโควิดมากกว่าความเสี่ยงจากอาการข้างเคียงของวัคซีน และฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา อิสราเอล และไอร์แลนด์ ก็ทำตามเหมือนกัน

 

 

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้จากสหรัฐฯ ชี้ว่าชายหนุ่มมีโอกาสเสี่ยงมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากโควิดสูงกว่าจากการฉีดวัคซีน 6 เท่า หรือ 450 รายต่อผู้ติดเชื้อโควิด 1 ล้านราย

 

 

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกันอาจเป็นเพราะพวกเขายังไม่ปักใจเชื่อข้อมูลที่ได้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน และคงไม่อยากผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนและเสี่ยงเกิดผลเสียตามมา ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของพ่อแม่ต่อการให้วัคซีนอื่น ๆ กับเด็กได้

 

 

ฉีดให้เด็กแล้วจะได้อะไร

แม้ว่าการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนจะไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดในโรงเรียนหรือในสังคมทั่วไปได้ แต่การฉีดให้เด็กกลุ่มอายุนี้ก็น่าจะสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดได้ และทำให้มีเด็กสามารถมาโรงเรียนในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงได้มากขึ้น

 

 

ที่ปรึกษารัฐบาลเพิ่งออกมาบอกไม่นานมานี้ว่า 40-70% ของเด็กระดับมัธยมศึกษาอาจจะเคยติดโควิดตั้งแต่เทอมแรก และก็มีภูมิคุ้มกันในตัวอยู่แล้ว

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงกันว่าควรหันไปมุ่งรณรงค์ให้คนอายุมากกว่า 18 ปี ออกมาฉีดวัคซีนกันมากขึ้นจะมีประโยชน์กว่าหรือไม่เพราะขณะนี้ยังมีมากกว่า 12% ที่เคลือบแคลงสงสัยไม่ยอมออกมารับวัคซีน

 

 

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกันสนใจ ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างผลข้างเคียงที่หาพบได้ยากจากการฉีดวัคซีนกับความเสี่ยงที่น้อยมาก ๆ ที่เด็กจะได้รับผลกระทบจากโควิด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง