คิดเห็นแชร์ : ต่อยอดภาคการเกษตร ด้วยศาสตร์แห่งเกษตรอุตสาหกรรม
สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ผมเคยแชร์เรื่อง “เกษตรอุตสาหกรรม” ในบทความครั้งก่อนๆ ไปแล้วว่าเกษตรอุตสาหกรรมคืออะไร และมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไร โดยเฉพาะหลังจากที่ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งภาคอุตสาหกรรมภาคการเกษตร และภาคบริการ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงภาพอนาคตของประเทศไทยที่ชัดเจนขึ้นว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องการมากกว่าอื่นใด
สะท้อนได้จากตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่เป็นบวก สวนทางกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ติดลบกันเป็นทิวแถว ซึ่งอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารยังเป็นจุดแข็งของไทยเพราะมีรากฐานเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรที่เป็นแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งขับเคลื่อนภาคการเกษตรซึ่งถือเป็นหนึ่งในฐานรากที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจตามวิถีปกติใหม่ (New Normal) ด้วยการยกระดับ “เกษตรกรรม” ให้เป็น “เกษตรอุตสาหกรรม” มุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจเกษตร เพื่อเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น ภาคการเกษตรมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ซึ่งผมเคยได้ให้คำนิยามของเกษตรอุตสาหกรรมไว้ว่า “เกษตรอุตสาหกรรม คือ ธุรกิจทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร ที่นำองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การมาตรฐาน การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นระบบ การสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมาประยุกต์ใช้” ซึ่งวันนี้ผมจะขอยกตัวอย่างการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอุตสาหกรรมที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมแล้ว ด้วยการประยุกต์ใช้ศาสตร์ของเกษตรอุตสาหกรรมกับการสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงผ่าน “บ้านบึงโมเดล” และการต่อยอดทำธุรกิจเกษตรในรูปแบบของธุรกิจยุคใหม่ผ่านโครงการ Agro Beyond Academy ครับ
ตัวอย่างแรก คือ การนำศาสตร์ของเกษตรอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานของเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและความต้องการของแต่ละชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรแปลงเล็ก เพื่อต่อยอดจุดแข็งของการทำเกษตรกรรมชุมชนให้ยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ด้วยการผนวกแนวคิดของการบริหารจัดการและเทคโนโลยีสมัยใหม่แบบอุตสาหกรรมเข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างให้เกิดห่วงโซ่มูลค่า (Value chain) ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการเกษตร
ซึ่งได้นำร่องเป็นโมเดลเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่แรกร่วมกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรชุนชนบ้านหนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จึงเป็นที่มาของ “บ้านบึงโมเดล” เพื่อให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และจะใช้บ้านบึงโมเดลเป็นกลไกในการขยายผลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการรวมกลุ่มของเกษตรกรกว่า 80 กลุ่มทั่วประเทศ มีการเรียนรู้ต่อยอดและพัฒนาศักยภาพในการจัดการระบบเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สร้างงานสร้างรายได้ ทำให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ตัวอย่างที่สอง คือ การนำศาสตร์ของเกษตรอุตสาหกรรมมาช่วยต่อยอดการทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในรูปแบบของธุรกิจยุคใหม่ ผ่านโครงการ Agro Beyond Academy ซึ่งเป็นการเรียนออนไลน์ในรูปแบบของ E-Learning เป็นนิว นอร์มอล ของการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาภาคเกษตรด้วยวิธีการใหม่ๆ โดยทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับ คุณวู้ดดี้ พิธีกรแถวหน้าของประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่มีใจอยากเข้ามาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรไทย
โดยคุณวู้ดดี้จะมาร่วมเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมทั้งได้เชิญนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่ประกอบธุรกิจเกษตรในรูปแบบของธุรกิจยุคใหม่ เช่น คุณโจน จันได เจ้าของพันพรรณ บ้านดิน, คุณเมย์ เจ้าของร้านอาฟเตอร์ยู, คุณนาขวัญ เจ้าของแบรนด์ NANA Fruit ผลไม้อบแห้ง
และยังมีอีกหลายท่านซึ่งเป็นผู้ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารจนประสบความสำเร็จ มาร่วมเป็นวิทยากรที่จะมาให้แนวคิด สร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการทำเกษตรอุตสาหกรรมให้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างและบ่มเพาะให้ผู้ที่สนใจอยากเริ่มต้นทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้กลายเป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.agrobeyond.com หรือติดตามข้อมูลได้จาก Fan page ของคุณวู้ดดี้ (Woody)
ทั้งสองตัวอย่างนี้ เป็นผลการดำเนินภายใต้นโยบายเกษตรอุตสาหกรรมของรัฐบาล ด้วยการใช้กลไกในรูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทย ผ่านการนำศาสตร์ของเกษตรอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน ซึ่งภารกิจการยกระดับ “เกษตรกรรม” ให้เป็น “เกษตรอุตสาหกรรม” ถือเป็นงานที่มีความท้าทาย ซึ่งไม่ง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
และเชื่อได้ว่า เกษตรอุตสาหกรรมจะทำให้พี่น้องเกษตรกรไทยมีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ดีและมั่นคงขึ้น อีกทั้งจะยังเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวและกลับมาเข้มแข็งอย่างยั่งยืน