รีเซต

ไวรัสโคโรนา : ความไม่แน่นอนของวิกฤตโควิด-19 และระบบสาธารณสุขอังกฤษ ทำให้คนไทยหลายคนเลือกเดินทางกลับไทย

ไวรัสโคโรนา : ความไม่แน่นอนของวิกฤตโควิด-19 และระบบสาธารณสุขอังกฤษ ทำให้คนไทยหลายคนเลือกเดินทางกลับไทย
บีบีซี ไทย
19 มีนาคม 2563 ( 00:49 )
125
2

"สาธารณสุขเขาสู้ไทยไม่ได้เลย การเข้าถึงหมอ คนไทยดีกว่า" มานิตย์ กิ่มศาสตร์ คนไทยผู้อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนมา 15 ปี เล่า

นี่เป็นช่วงที่ยุ่งที่สุดช่วงหนึ่งสำหรับธุรกิจให้บริการขับรถรับ-ส่ง ของเขา ไม่ใช่เพื่อพานักท่องเที่ยวคนไทยไปส่งเข้าที่พัก ออกไปเที่ยวชมหอนาฬิกาบิ๊กเบนหรือพระราชวังบัคกิงแฮม แต่เป็นการไปส่งนักเรียน-นักศึกษาคนไทยที่สนามบินด้วยความกังวลกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

วันนี้ มานิตย์เตรียมขับรถออกไปรับเด็กนักเรียนไทยที่โรงเรียนประจำนอกกรุงลอนดอน แต่ท้ายรถก็มีกระเป๋าเดินทางของเขาเองด้วย และเขาก็ยังไม่รู้ว่าจะกลับมาลอนดอนอีกครั้งเมื่อไร

ในขณะที่สหภาพยุโรปเริ่มใช้มาตรการห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศและทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเกิน 2 แสนคน ผู้เสียชีวิตเกิน 8,000 คน อังกฤษถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังรับมือกับวิกฤตไม่ดีพอ ยังไม่ได้มีการสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ แค่ขอให้คนเลิกพบปะกันเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ค่ำวันที่มานิตเดินทางกลับ อังกฤษได้ประกาศปิดโรงเรียนทุกแห่งตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. เช่นเดียวกับที่สกอตแลนด์และเวลส์

สถานการณ์ในไทยที่ดูจะร้ายแรงน้อยกว่าในฝั่งยุโรป ณ ขณะนี้ ทำให้คนอย่างมานิตย์ รวมถึงนักศึกษาไทยจำนวนมาก ตัดสินใจเดินทางกลับไทย ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตในสหราชอาณาจักร 104 รายแล้ว ส่วนอิตาลีซึ่งเผชิญวิกฤตหนักสุดรองจากจีน มียอดผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 ราย

PA Media

มานิตย์บอกว่าเขาเชื่อมั่นในสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติหรือเอ็นเอชเอส แต่อังกฤษมีกลยุทธ์จัดการกับไวรัสแบบ "ตั้งรับ" ไม่ใช่ "เชิงรุก"

"ผมฟังนโยบายของเขาเนี่ย เหมือนทดลอง ยังหาทางไม่ได้ ยังไม่พบสักที" มานิตย์ในวัย 58 ปี กล่าว เขาอธิบายว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจกลับไทย

"ที่กลับเพราะว่าดูแล้วที่อังกฤษ ยุโรป น่ากลัวกว่าเมืองไทยเยอะ ตามตัวเลข คนที่ติด (เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่) เสียชีวิตที่นี่ อัตราเสี่ยงสูงกว่าเมืองไทย ที่ไทยปลอดภัยกว่า (ผู้ติดเชื้อ) เสียชีวิตคนเดียว"

เมื่อถามว่าคิดอย่างไรที่บางฝ่ายมองว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยน้อยเพราะประชาชนไม่ได้รับการตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง

"ไทยตรวจเยอะ แต่พีอาร์ (การประชาสัมพันธ์) เราไม่ดี คนไปตรวจเยอะมากมาย ...ที่บอกว่าไม่ได้ตรวจ แต่ทำไมไม่มีคนเสียชีวิต มันก็ต้องมีคนตายถูกไหม คนที่ติด ญาติพี่น้องเขาก็ต้องไป (ตรวจที่)โรงพยาบาลอยู่แล้ว"

"ผมรู้ว่าคนไทยทำตามขั้นตอนของหมอ ปิดไหนก็ต้องปิดตรงนั้นเหมือนอิตาลี ตามหลักเกณฑ์"

มานิตย์บอกอีกว่า ที่อังกฤษมีโรงพยาบาลไม่เพียงพอ เข้าถึงหมอยากกว่าไทย

"นโยบายที่ให้คนอยู่บ้านรู้เลย (เอ็นเอชเอส) เขาไม่มีเตียง เฉพาะคนไข้ปัจจุบันก็เต็มแล้ว ...ให้คนอยู่บ้าน ถ้ารู้ว่าติด ไม่มีความสุขอะ ถ้าเราเป็นไข้ หมอไม่อยู่กับตัว เราก็ไม่มีความสุข"

ในขณะที่ทางการไทยสั่งปิดสถานที่ที่มีคนมารวมตัวกันเป็นกิจวัตร ได้แก่ สถาบันการศึกษา สถาบันกวดวิชา สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ร้านนวด ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มาตรการของอังกฤษยังเป็นการ "แนะนำเลี่ยง" อยู่ ให้ทำงานที่บ้านหากเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีคำสั่งปิดร้านค้า โรงเรียน-สถาบันการศึกษา

เอาเชื้อกลับไป

สำหรับ สรชา นิมิตยนต์ นักศึกษาไทยระดับปริญญาโทในกรุงลอนดอน มหาวิทยาลัยที่เธอเรียนอยู่อนุญาตให้เรียนหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว แต่เธอยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะกลับไทยหรือไม่

Getty Images

สรชา ซึ่งร่างกายแข็งแรงปกติดีบอกว่า อยากรอดูสถานการณ์ไปอีกหน่อย "เขาอาจจะปิดประเทศแล้ว เรากลับไม่ได้หรือเปล่า ...มีตั๋วแล้วแต่ก็กลัวไปติดบนเครื่อง และก็กลัวเอาโรคกลับไปติดที่บ้าน เลยไม่อยากกลับ"

มานิตย์บอกว่า ช่วงไม่กี่วันมานี้ นักเรียนนักศึกษาแห่กันกลับบ้านเป็นจำนวนมาก เขาบอกว่าสายการบินอีวีเอของไต้หวัน ยกเลิกเที่ยวบินจากลอนดอนกลับไทยไปแล้ว และราคาตั๋วที่พยายามจองให้ลูกสาวในวันไล่เลี่ยกันก็พุ่งสูงเป็นราว 700 ปอนด์ หรือราว 28,000 บาท และราคาวันใกล้เคียงกันก็ถึงราว 1-2 พันปอนด์ หรือ ราว 38,000 ถึง 76,000 บาทแล้ว

สรชา บอกว่าไม่มั่นใจกับสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติที่นี่เลย วัดจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยกระดูกร้าวและไปหาหมอที่โรงพยาบาลมาแล้ว ต้องรอหลายชั่วโมงและสุดท้ายก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างใส่ใจ

"รู้สึกว่ามันเข้าถึงยาก ระบบมันช้า บุคลากรก็น้อย"

กลับไทยได้ แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเช้าวันนี้ (19 มี.ค.) แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. คนไทยทุกคนที่เดินทางออกจากสหราชอาณาจักรเพื่อกลับประเทศไทย จะต้องแสดงเอกสารเพื่อประกอบการเช็คอินขึ้นเครื่องบิน ตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ดังนี้

-ใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง

-หนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่ออกโดยสถานทูต ณ กรุงลอนดอน

สำหรับการขอหนังสือรับรองการเดินทางจากสถานทูตนั้น ต้องใช้เอกสารประกอบ คือ ใบรับรองแพทย์ สำเนาหนังสือเดินทาง และตั๋วเครื่องบินหรือ e-ticket

https://www.facebook.com/ThaiEmbLondon/photos/a.530658943664967/2824066957657476/?type=3&theater

ประกาศจากทางสถานทูต ทำให้มีคนไทยในสหราชอาณาจักรเข้าไปแสดงความไม่พอใจจำนวนมาก บางคนกล่าวว่ารัฐบาลไทยกีดกันคนไทยที่ต้องการกลับประเทศ ขณะที่บางคนแสดงความกังวลว่าจะขอใบรับรองแพทย์ไม่ทัน เพราะซื้อตั๋วเครื่องบินไปแล้ว

นอกจากนักศึกษาไทยแล้วมีรายงานว่านักศึกษาจากประเทศเอเชียที่เรียนอยู่ในสหราชอาณาจักร ต่างจองตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศของตัวเอง ท่ามกลางความกังวลเรื่องมาตรการรับมือของสหราชอาณาจักร

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง