รีเซต

‘ศูนย์วิจัยกสิกรฯ’ ประเมินศก.ไทยปี 63 ขึ้นอยู่กับรัฐจัดการโควิด เชื่อ ‘ธปท.’ หั่นดอกเบี้ยอีกรอบ

‘ศูนย์วิจัยกสิกรฯ’ ประเมินศก.ไทยปี 63 ขึ้นอยู่กับรัฐจัดการโควิด เชื่อ ‘ธปท.’ หั่นดอกเบี้ยอีกรอบ
มติชน
15 พฤษภาคม 2563 ( 16:57 )
116
1

 

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยภายในงานสัมนาออนไลน์ ในหัวข้อหุ้นกู้ไทยไปต่อได้หรือไม่ ในสถานการณ์ COVID-19” ว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดการเงินโลกต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างหนัก ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อจากนี้จนทั้งปี 2563 จะขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในสองกรณีคือ กรณีฐาน (Base case) สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในครึ่งปีแรก และไม่เกิดการระบาดใหม่รอบ 2 กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาในรูปแบบความปกติใหม่ (นิวนอร์มอล) และในกรณีเกิดการระบาดใหม่รอบ 2 รัฐบาลจะต้องออกมาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกระลอก

 

นางสาวณัฐพรกล่าวว่า ในระยะถัดไปรัฐบาลจะต้องออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยมีแนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มเติม โดยจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มอีก0.25% และทำจุดต่ำสุดครั้งใหม่ ซึ่งประเมินว่าอาจปรับลงในไตรมาสนี้เพื่อประคองเศรษฐกิจ โดยหากการแพร่ะระบาดของโควิด-19 คลายตัวได้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยเข้าสู่ภาวะปกติ จะส่งผลทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว

 

หลังจากที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ในขณะเดียวกันการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอลงด้วยเช่นกัน การฟื้นตัวกลับสู่ระดับปกติคงไม่สามารถทำได้ในเร็วๆ นี้ เพราะยังไม่มีวัคซีนต้านไวรัสหรือยารักษาโควิด-19 ส่วนมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาด้านรายได้และการจ้างงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนให้ประคองการดำรงชีวิตประจำวันเพื่อผ่านวิกฤติไปให้ได้ แต่เศรษฐกิจจะยังคงหดตัวอยู่ ซึ่งคาดว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยปีนี้จะติดลบ 5%

 

แนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้ ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามากที่สุดในไตรมาส 2 โดยให้เป้าหมายค่าเงินบาทในไตรมาส 2 ไว้ที่ 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นผลกระทบจากรายได้ในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ค่าเงินบาทจะกลับขึ้นมาแข็งค่าเล็กน้อยที่ 32.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ สำหรับสถานการณ์หลังจากโควิด-19 หมดไปแล้ว เชื่อว่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขของไทย ที่มีความเข้มแข็งจะสามารถไปต่อได้ จากการรับมือช่วงวิกฤตของไทยที่จัดการด้านสาธารณสุขได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศในระดับเดียวกัน ส่วนภาคบริการ อาทิ ร้านอาหาร และโรงแรม จะเป็นธุรกิจที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไปมากที่สุดอย่างชัดเจนนางสาวณัฐพรกล่าว

 

ด้านนายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในตราสารหนี้ ในส่วนของการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (บีเอสเอฟ) ของธปท. เบื้องต้นคาดว่าอุปทานพันธบัตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากพ.ร.ก.เงินกู้เพื่อเยียวยากรณีการระบาดโควิด-19 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้

 

ส่วนอุปทานหุ้นกู้จะเป็นปัจจัยลบต่อตลาด รวมถึงจะมีความผันผวนของตลาดหุ้นกู้เอกชนที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะเครดิตที่อาจชะลอลง จากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าแม้โควิด-19 จะกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง แต่จะส่งผลกระทบเพียงชั่วคราว และเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 เนื่องจากประเมินว่า มาตรการทั้งการเงินและการคลังทั่วโลก จะช่วยพยุงและผลักดันเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ในที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง