'บิ๊กตู่' แย้มเปิดกิจการเฟส 3 ต้องปล่อยก้อนใหญ่ 'ร้านเหล้า' ต้องระดมสมองชง ศบค.
เปิดกิจการ- เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันนี้ ไม่ได้กล่าวถึงกิจการ/กิจกรรมที่จะผ่อนคลานในระยะที่ 3 (เฟส 3) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยยังใช้หลักการเดิม คือ เปิดกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางและค่อนข้างสูงในเรื่องของการติดเชื้อ การเกิดปัญหาด้านสาธารณสุขเป็นหลัก
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. กล่าวว่า ถ้าแบ่งระหว่างระยะที่ 3 กับ ระยะที่ 4 คือ ระยะที่ 4 คือกิจการ/กิจกรรมมีความเสี่ยงสูงมากๆ กลุ่มกิจการสีแดงเลยต้องเอาไว้เปิดในระยะที่ 4 เพราะฉะนั้น การเปิดกิจการ/กิจกรรมในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 อาจจะเป็นก้อนใหญ่ หรือ การรวมกิจการให้ได้มากที่สุด และที่เหลือจากนั้นไปก็จะเปิดในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 ซึ่งตรงนี้อาจจะมีความสำคัญจำเป็น เพราะฉะนั้นคณะกรรมการนัดเอาเรื่องนี้เข้าไปประชุม
“จะบอกว่าเป็นความเสี่ยงสูง หรือ ไม่สูง คณะกรรมการต้องไปช่วยกันคิดในประเด็นของแต่ละกิจการ/กิจกรรมกันไป ตอนนี้ผมไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคืออะไร ตรงไหน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ในอนาคต เช่น สถานบันเทิง หากจะแนะนำก็ใช้หลักการ 5 มาตรการหลัก แต่ผู้ประกอบการจะต้องไปคิดต่อเป็นนวัตกรรมเป็นความเหมาะสมกับกิจการ/กิจกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละผู้ประกอบการ เพื่อดึงดูดคนที่จะไปร้าน แต่จะต้องมีความปลอดภัย เป็นโจทย์ที่ยาก และคงไม่มีการบอกว่าต้องเป็นอย่างไร ยกเว้นอาจจะเกิดขึ้น คือ มาตรการหลัก 5 ข้อ มาตรการเสริมซึ่งมีความเข้มงวดขึ้นมา กรณีในส่วนของร้านที่ทำเกี่ยวข้องกับทางด้านสถานบันเทิงที่โยงกับเรื่องของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะต้องมีมาตรการจะทำอย่างไรจะรักษาชีวิต รักษาคนที่ไปที่ร้านให้ได้และไม่มีการติดเชื้อ ต้องเป็นหน้าที่ผู้ประกอบการ
“การที่เราเคยมีประสบการณ์จากกรณีของทางด้านเหตุการณ์ของสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานคร บางแห่ง ต้องเรียนรู้จากตรงนั้นแล้วก็มาใช้ แล้วก็อาจจะมีเรื่องสุดท้ายเป็นมาตรการที่ยิบย่อยลงไปอีก คือ มาตรการระดับคู่มือ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องออกมาในทั้ง 3 ชุดนี้ ผู้ประกอบการสถานบันเทิงต้อง ลองศึกษาดูจากในระยะที่ 2 ที่ออกมาว่าเขาเป็นอย่างไร และท่านอยากจะให้เป็นอย่างไร ถ้าเป็นไปได้มีร่างนี้ออกมาประกอบพูดคุยกันในลักษณะของชมรม สมาคม องค์กรทางด้านทางด้านวิชาชีพใกล้เคียงกัน การระดมความคิดด้วยกันแล้วก็มาแชร์ไอเดียกัน แล้วก็นำเสนอให้กับ ศบค.และคณะกรรมการ ที่จะมีการประชุมกันต่างๆได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว