รีเซต

'สสส.' จับมือ 'ภาคีป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง' เปิดตัวเว็บไซต์-Chatbot ตัดวงจรข่าวลวงที่ระบาดมากับโควิด

'สสส.' จับมือ 'ภาคีป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง' เปิดตัวเว็บไซต์-Chatbot ตัดวงจรข่าวลวงที่ระบาดมากับโควิด
มติชน
12 เมษายน 2563 ( 18:29 )
100
'สสส.' จับมือ 'ภาคีป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง' เปิดตัวเว็บไซต์-Chatbot ตัดวงจรข่าวลวงที่ระบาดมากับโควิด

‘สสส.’ จับมือ ‘ภาคีป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง’ เปิดตัวเว็บไซต์-Chatbot ชวนสังคมค้นหาข่าวจริง ตัดวงจรข่าวลวงที่ระบาดมากับโควิด-19

เมื่อวันที่ 12 เมษายน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้มาพร้อมกับการระบาดของข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดข่าวลวงข่าวปลอมแพร่กระจายในสื่อไปทั่วโลก รวมทั้งในไทย สร้างความเข้าใจผิด ๆ ในเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคระบาด และความปลอดภัยของประชาชน สสส. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ChangeFusion Wisesight Open Dream Center for Humanitarian Dialogue (HD) มูลนิธิ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และองค์กรวิชาชีพสื่อ นำร่องกลไกภายใต้โครงการโคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) เปิดพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงผ่านเว็บไซต์ cofact.org และโปรแกรมการพูดคุยอัตโนมัติ (Chatbot) ไลน์ @cofact เพื่อร่วมตรวจสอบข่าวลวงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะประเด็นโควิด-19 เป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ทุกคนเปิดรับสื่ออย่างรู้เท่าทัน ร่วมตรวจสอบข่าว นำมาสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเท่าทันสื่อของพลเมืองดิจิทัล ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อและสังคมสุขภาวะ

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ร่วมก่อตั้ง กล่าวว่า โครงการโคแฟค เปิดพื้นที่ให้ช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริงกับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงผู้รู้จริง เพราะบางครั้งข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย ดังนั้นจึงต้องการสร้างพื้นที่กลางในการค้นหาความจริงร่วมกัน โดยผ่านเว็บไซต์ cofact.org เป็นการผสานการผลักดันการใช้เทคโนโลยีของภาคพลเมือง กับงานเชิงข่าวด้านวารสารศาสตร์ มีกองบรรณาธิการร่วมกับอาสาสมัครทำการกรองข่าวที่เกิดขึ้นโดยอิงข้อมูลจากหน่วยงาน หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง

“cofact.org เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมแลกเปลี่ยนโต้แย้งข้อเท็จจริงและความคิดเห็น นอกจากนี้ Chatbot ไลน์@cofact ยังเปิดให้ส่งข่าวมาให้ทีมกลั่นกรอง ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผลการตรวจสอบผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชน รวมทั้งพัฒนางานข่าวเชิงลึก บทความที่น่าสนใจจากประเด็นข่าวจริงข่าวลวงที่เป็นกระแสหรือที่มีความสนใจในเชิงนโยบายและประโยชน์สาธารณะ โครงการเชื่อว่าการแก้ปัญหาข่าวลวงในยุคดิจิทัลคือการทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าว หรือ/และ สร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยเปิดเวทีให้มีตลาดทางความคิดเห็นที่หลากหลาย แยกแยะได้ระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น โดยเชื่อมั่นในวิจารณญาณของสังคม ทั้งนี้โคแฟคได้รวบรวมบทความเป็นฐานข้อมูลไว้จำนวนหนึ่ง เชิญชวนทุกท่านให้มาเป็นชาวชุมชนคนโคแฟคร่วมกันค้นหาความจริง เพื่อร่วมสร้างสุขภาวะของสังคม ที่ cofact.org” นางสาวสุภิญญา กล่าว

ทั้งนี้ จะเปิดตัวผ่านทางออนไลน์ในงานเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum #8 ว่าด้วยเรื่อง Cofact สู้ Covid19 : Collaborative Fact checking in Infodemic, will we win? และการเสวนา “เราควรรับมือโรคระบาดข้อมูลข่าวสาร (Infodemic) อย่างไรให้สมดุล” ซึ่งจะมีวิทยากรต่างประเทศร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในวันอังคารที่ 14 เมษายน 2563 เวลา 13.00 น. ผ่านระบบออนไลน์ และถ่ายทอดสดผ่าน เฟซบุ๊กแฟนเพจ CofactThailand

ข่าวที่เกี่ยวข้อง