รีเซต

ชุด PPE “รุ่นเราสู้” พร้อมส่งมอบ อภ. 44,000 ชุด เดือนนี้ ใช้ซ้ำ-ซักได้ถึง 20 ครั้ง!

ชุด PPE “รุ่นเราสู้” พร้อมส่งมอบ อภ. 44,000 ชุด เดือนนี้ ใช้ซ้ำ-ซักได้ถึง 20 ครั้ง!
มติชน
8 พฤษภาคม 2563 ( 18:15 )
262
ชุด PPE “รุ่นเราสู้” พร้อมส่งมอบ อภ. 44,000 ชุด เดือนนี้ ใช้ซ้ำ-ซักได้ถึง 20 ครั้ง!

ชุด PPE “รุ่นเราสู้” พร้อมส่งมอบ อภ. 44,000 ชุด เดือนนี้ ใช้ซ้ำ-ซักได้ถึง 20 ครั้ง!

ชุดPPE- เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย แถลงความสำเร็จของประเทศไทยในการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคลทางการแพทย์ หรือ ชุด PPE ที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ พร้อมทั้งสามารถซักได้ถึง 20 ครั้ง

นายอนุทิน กล่าวว่า นวัตกรรมที่สำคัญที่สุดทางการแพทย์ที่ต้องคอยคัดกรองผู้ป่วยตามด่านตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่มีสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือ โควิด-19 สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของหายาก โดยเมื่อ 2 เดือนที่แล้วหากมีเงิน ก็หาซื้อสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ วันนี้สิ่งที่ สธ. และภาครัฐ ได้ร่วมทำมา แสดงผลอันเป็นที่น่าพึงพอใจ ทำงานร่วมกันเป็นเอกภาพเพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ให้ความปลอดภัยกับประเทศไทยและประชาชน เมื่อ 3 สัปดาห์ที่แล้วต้องนั่งหาชุด PPE แล้วให้ อย.ตรวจสอบ พบว่า ส่งตรวจไป 10 ชุด ใช้ได้ 1 ชุด อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้อย่างดีที่สุด และในที่สุดเราก็ทำได้

นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่ได้มากกว่านี้คือ ชุดป้องกัน PPE “รุ่นเราสู้” ถูกใช้อย่างเต็มที่ ผลิตเองในประเทศเงินก็จะอยู่ในประเทศ ไม่ต้องนำเงินไปซื้อจากต่างประเทศ มีบางคนบอกว่า “กว่าจะจบโควิด-19 ต้องใช้ชุด PPE กว่า 20 ล้านชุด ถ้าชุดละ 500 บาท คิดเป็นเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาสร้างโรงงานทำวัคซีนได้ แต่หากไม่มีใช้ก็ต้องยอม แต่ตอนนี้เมื่อผลิตได้เองก็จะประหยัดงบประมาณชาติได้เป็นอันมาก ชุดป้องกัน “รุ่นเราสู้” สามารถนำมาซักได้ 20 ครั้ง ส่วนเรื่องของยารักษาโรคทาง นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม จากที่เคยขอซื้อจากต่างประเทศได้เพียง 2 พันเม็ด ขณะนี้สามารถซื้อได้ครั้งละ 1 แสนเม็ดมีสำรองในคลัง เพื่อในการสำรองใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้เกิดความมั่นคงและมั่นใจ

“ถึงแม้ยังไม่มีวัคซีน แต่ สธ. เราพร้อมจะดูแลรักษาคนไทยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ ผู้ป่วยจะต้องน้อยลงเพราะควบคุมอย่างเต็มที่ เนื่องจากเรามีประสบการณ์จึงมีความมั่นใจ ในฐานนะที่เป็นตัวแทนรัฐบาล จึงฝากขอบคุณทุกท่าน ไทยเราจะต้องประกาศตัวเองให้เป็นมหาอำนาจทางการสาธารณสุขให้ได้ เพื่อการต่อชีวิตคน ต้องทำให้สำเร็จก่อน นพ.สุขุม จะเกษียณราชการ เพื่อให้เกิดการจดจำตลอดไป ส่วนเรื่องวัคซีน มีการประชุมเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม คณะผู้บริหาร สธ. มีเป้าหมายในการทุ่มเทเรื่องวัคซีน เรื่องยา ทางคณะกรรมการเสนอให้ถอดถอนประเทศจีนและประเทศเกาหลีใต้ ออกจากพื้นที่เสี่ยง นั่นก็ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับประเทศเหล่านี้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น เราก็จะได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นหากเราต้องการความช่วยเหลือ เราต้องสู้จนกว่ามันจะราพนาสูญไป เราไม่มีทางแพ้โควิด-19 เราต้องชนะ” นายอนุทิน กล่าว

นพ.สุขุม กล่าวว่า สิ่งที่ช่วยกันคือ ต้องหาชุดป้องกัน เพื่อไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อจากการให้บริการผู้ป่วย และในบริษัทที่ทางประเทศไทยติดต่อซื้อขายเป็นประจำ ก็ถูกจำกัดแล้ว สธ.ต้องขอขอบคุณภาคเอกชน สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย และ 4 กรมของ สธ. คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค อภ. และ อย. วันนี้เราร่วมมือกันผลิตให้มีชุดป้องกันให้ได้มาตรฐาน วันนี้ตอบโจทย์ประเทศไทย ความก้าวหน้า Thailand Medical Hub คือ 1.เมื่อก่อนของเหล่านี้จะต้องนำเข้า แต่อันนี้จะเป็นก้าวแรก ในการผลิตเองในประเทศ 2.บุคลากรทางการแพทย์ฯ มีขวัญกำลังใจดี การป้องกันในการทำงาน มีความมั่นใจในการทำหน้าที่ เพราะไม่ได้ใช้แค่ในโรงพยาบาล แต่ต้องใช้ในการไปเก็บสิ่งส่งในชุมชน 3.การใช้อย่างสมเหตุผล คือ 1 ชุด ซักใช้ได้ 20 ครั้ง

“เราคิดมาก่อนประเทศจีน ที่จีนเพิ่งประกาศว่าชุด PPE ของเขาใช้ซ้ำได้ และเป็นแนวทางที่ใช้แล้วประหยัด งบประมาณ การร่วมกันครั้งนี้แสดงให้เห็นน้ำใจและศักยภาพคนไทย จากหลายหน่วยงานมีมากจริงๆ ไทยอนาคตประเทศไทยจะเป็นผู้นำทางสุขภาพ ด้วยการยืนด้วยขาตัวเอง” นพ.สุขุม กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า ความสำเร็จเป็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์บริการ สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย โดยเริ่มพบกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ปรึกษาหารือกันที่ อย.จนวันนี้ก็ครบ 4 ครั้ง รวม 43 วัน จนประสบความสำเร็จได้เสื้อกันน้ำ (Isolation gown) หน้าที่ อภ.คือ ต้องหาชุด PPE ร่วมกับ อย. โดยมีโจทย์คือ ถ้าต่างประเทศไม่ส่งให้ ประเทศไทยจะทำยังไง ดังนั้น อว.และ สธ. จึงได้มาดูข้อแนะนำของกรมการแพทย์ในการใช้ และการใช้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง คือ 1.ผู้ป่วยความเสี่ยงน้อย-กลาง ใช้ชุดป้องกันกันน้ำระดับ 2 ที่ทนแรงดันน้ำได้ 20 เซนติเมตรน้ำ มีอัตราการใช้ร้อยละ 50 ที่ใช้ทั้งหมด และ 2.ผู้ป่วยความเสี่ยงสูง-มาก ต้องใช้ ‘Rabbit Suit’ หรือ ชุดหมี ต้องใช้ชุดกันน้ำระดับ 4

“การทดสอบ เราต้องดูความปลอดภัย 3 อย่าง คือ 1.เนื้อผ้า ต้องเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ รีไซเคิลมาจากขวดน้ำ ซึ่งนำเข้าจากไต้หวัน โดยโรงงานผลิตชุดรุ่นเราสู้ในประเทศไทย เดิมทีส่งผ้าระดับ medical grade ไปที่ทวีปยุโรป และสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว โดยการผลิตชุด เส้นใยพลาสติกจะต้องซื้อมาจากไต้หวัน เนื่องด้วยประเทศไทยไม่มีการแยกขยะ ดังนั้น อัตราการผลิตชุดคือ ร้อยละ 90 ผลิตจากในประเทศอยู่ไทยและอีกร้อยละ 10 ซื้อเส้นใยพลาสติกมาจากต่างประเทศ 2.การเย็บ ที่จะต้องป้องกันการซึมของน้ำ และ 3.การใช้ซ้ำ ว่าจะสามารถซักได้กี่ครั้ง โดยขณะการซักต้องผสมผลการค้นหาโซเดียมคลอไรด์ 0.1% เพื่อฆ่าเชื้อ อภ.จัดจ้าง 13 บริษัท จำนวน 44,000 ตัว ราคาตัวละ 500 บาท ใช้ได้ 20 ครั้ง ตกครั้งละ 20 บาท ซึ่งสามารถลดเรื่องขยะ และคาดว่าส่งได้ภายในเดือนนี้ทั้งหมด ศักยภาพของเรา คือ 1 เดือนจะได้ผ้า 1 ล้านหลา ผลิตได้ 3 แสนชุดต่อเดือน

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีภารกิจในการพัฒนาห้องปฏิบัติการ (แล็บ) และตรวจวิเคราะห์ผลิตสุขภาพเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ใช้ พัฒนามาตรฐานวิธีการตรวจต่างๆ ในเรื่องของความมั่นคงทางการแพทย์และสาธารณสุข ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ทางด้านยา วัคซีน รวมถึงชุดป้องกัน PPE รุ่นเราสู้ เป็นต้นแบบอย่างหนึ่ง จากความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐ โดยกรมวิทย์ฯ และ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ช่วยกันตรวจสอบเพื่อมาตรฐานและสามารถนำจำหน่ายได้ โดยโจทย์คือ ให้หาวิธีทำให้ชุดกันน้ำได้ เริ่มต้นจึงใช้หยอดดันน้ำ พบว่ามีการซึมและใช้เวลานาน ดังนั้นกรมวิทย์ฯ พัฒนาเครื่องตรวจมา 2 เครื่อง เพื่อทดสอบแรงดันน้ำและเครื่องทดสอบแบคทีเรียที่ผ่านเข้าไปในชุด PEE

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีออเดอร์มาจากต่างประเทศแล้ว คือ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย และทวีปยุโรป โดยชุดป้องกันรุ่นเราสู้ จะส่งมอบให้ อภ. เป็นรอบ 4 รอบ คือ วันที่ 7 พฤษภาคม วันที่ 10 พฤษภาคม วันที่ 15 พฤษภาคม และวันที่ 31 พฤษภาคม โดยการตรวจสอบในแต่ละรอบคือ จำนวน 1,000 ชุดจะซักตัวอย่าง 3 ชุด และมีการตั้งพัฒนาชุดที่ไม่ได้ใช้การถักทอ คล้ายกับชุด Rabbit Suit หรือ ชุดหมี ที่ต้องใช้แล้วทิ้ง คาดว่าจะทราบผลในเดือนมิถุนายน เนื่องจากเริ่มต้นโครงการนี้ไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน ในขณะนี้ความคืบหน้าอยู่ในระดับ 3 โดยชุดป้องกันยังไม่ผ่านการทะลุผ่านโดยเลือดและไวรัส ขั้นตอนต่อไปคือ ผ้าชนิดใหม่จะได้ภายในวันนี้และวันที่ 9 พฤษภาคม จะเริ่มดำเนินการตัดเย็บทันที โดยอะไรที่คนในโลกทำได้ คนไทยก็ทำได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง