รีเซต

โอมิครอนคร่าเด็กเล็กแล้ว 27 ราย สธ.แจงต่ำ 4 ขวบตาย พ่อแม่รู้ช้า-ไม่มีวัคซีน

โอมิครอนคร่าเด็กเล็กแล้ว 27 ราย สธ.แจงต่ำ 4 ขวบตาย พ่อแม่รู้ช้า-ไม่มีวัคซีน
มติชน
4 เมษายน 2565 ( 16:08 )
31
โอมิครอนคร่าเด็กเล็กแล้ว 27 ราย สธ.แจงต่ำ 4 ขวบตาย พ่อแม่รู้ช้า-ไม่มีวัคซีน

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ พบว่ามีการติดเชื้อในเด็กเล็กเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 0-4 ขวบ โดยพบว่า ระลอกเดือนมกราคม 2565 มีเด็ก 0- 4 ขวบ เสียชีวิตแล้ว 27 ราย ซึ่งมากกว่าระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่เสียชีวิต 23 ราย

 

“เนื่องจากเชื้อโอมิครอนแพร่เร็ว และเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว จึงไม่ค่อยสังเกตอาการเด็ก เมื่อเด็กป่วย พ่อแม่จึงรู้ช้า อีกทั้งเป็นวัยที่ยังไม่ได้รับวัคซีน สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อที่พบการป่วยสูงสุดเวลานี้คือ กลุ่มวัยทำงาน 30-39 ปี ส่วนกลุ่มวัยรุ่น 10-19 ปี แม้การติดเชื้อเริ่มลดลงเพราะเป็นช่วงปิดเทอม แต่ก็เป็นอีกกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่ไปสู่คนอื่นได้ จึงย้ำให้ฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิและป้องกันการป่วยหนักได้” นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดที่สำคัญช่วงสงกรานต์ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก 1.ผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน กลุ่มติดเตียง อาจรับเชื้อจากผู้ดูแลญาติ ผู้มาเยี่ยม 2.กลุ่ม 608 ยังทำงานได้ เสี่ยงติดเชื้อจากผู้อื่น ทั้งเพื่อน ญาติ รวมทั้งไปสถานที่แออัด และ 3.เด็กเล็ก โดยเฉพาะต่ำกว่า 5 ปี จากข้อมูลพบเสียชีวิต ร้อยละ 60 มีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัว และอีก ร้อยละ 40 ไม่สามารถระบุแหล่งโรคได้ ส่วนเด็กวัยเรียนช่วงปิดเทอมมีแนวโน้มติดเชื้อลดลง ขณะที่วัยทำงานยังคงมีอัตราติดเชื้อสูงมาก สำหรับสถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรค เช่น รับประทานอาหาร ดื่มสุรา ร่วมเป็นเวลานาน ร่วมงาน/กิจกรรม ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค

 

วันเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การติดเชื้อในเด็ก เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (4 เมษายน 2565) พบว่าเด็กเล็กมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบสัดส่วนกับกลุ่มอื่นๆ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน ความรุนแรง หรือการป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากการระบาดเมื่อปี 2564 ทั้งนี้ ในจำนวนเด็กที่เสียชีวิตรอบนี้พบว่า เป็นเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคทางสมอง เป็นต้น

 

“ดังนั้น สถานการณ์ในเด็กถือว่าไม่ได้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องพึงระมัดระวัง เนื่องจากเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีน เพราะยังไม่มีวัคซีนในเด็กเล็กอยู่แล้ว ต้องเน้นย้ำกับผู้ปกครองว่าอย่าพาเด็กไปสถานที่เสี่ยง สถานที่แออัด หากเจ็บป่วยให้พาไปพบแพทย์ พ่อ แม่ พี่เลี้ยงเด็กที่ต้องอยู่ใกล้ชิดเด็กคนนั้น ควรไปฉีดวัคซีนป้องกันด้วย” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง