เหตุใดจีนต้องแบน Bitcoin - หวั่นกระทบเศรษฐกิจและการเงินของจีนจริงหรือ?
จากที่หลายคนทราบกันดีว่าขณะนี้รัฐบาลจีนได้ประกาศแบนการประกอบธุรกิจใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเงินคริปโต (Cryptocurrency) ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของเงินคริปโตสกุลดัง ๆ อย่าง Bitcoin และ Ethereum เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีการแบนเกิดขึ้นนั้น ตลาดของเงินคริปโตกำลังคึกคักเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะมูลค่าของ Bitcoin ที่พุ่งทะยานจนทำกำไรให้กับนักลงทุนและโรงงานเหมืองคริปโตในจีน ทว่า เหตุใดจีนจึงต้องประกาศแบนทั้งที่มันน่าจะสร้างกำไรได้อย่างมหาศาล และเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความก้าวหน้าสูง ลองมาค้นหาคำตอบกัน
ความผันผวนและเสถียรภาพ
เงินคริปโตเป็นเงินดิจิทัลที่ขับเคลื่อนราคาด้วยมูลค่าอนาคต (Future Value) ซึ่งมูลค่าจะเพิ่มขึ้นหากมีการนำเงินไปลงทุนและได้รับผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่ายิ่งเงินได้รับความสนใจในการนำไปใช้มากเท่า แนวโน้มมูลค่าของเงินก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ในขณะที่เงินตราที่ใช้กันในปัจจุบันนั้น จะขึ้นอยู่กับโลหะมีค่า เช่น ทองคำ รวมถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ดังนั้น หากพิจารณา Bitcoin และเงินคริปโตอื่น ๆ มีโอกาสผันผวนได้มาก และมีเสถียรภาพต่ำ เพราะไม่มีหลักประกันที่มั่นคงเท่ากับเงินตราในปัจจุบัน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Bitcoin เคยประสบปัญหามูลค่าตกลงอย่างน้อย 50% ถึง 4 ครั้ง ทำให้รัฐบาลจีนเล็งเห็นถึงความผันผวนของเงินคริปโตทั้งหลาย จึงพยายามเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดการนำมาใช้ ก่อนที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลจีนเผยว่า เงินคริปโตเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากเดินที่ควรจะเป็นความเสี่ยงต่อบุคคลที่นำมาใช้ กลับกลายเป็นความเสี่ยงที่กระจายไปยังบุคคลอื่น ๆ ในสังคมด้วย
ความพยายามเพื่อระงับการใช้เงินคริปโตครั้งแรกของจีน คือเมื่อปี 2013 โดยรัฐบาลประกาศไม่ให้ธนาคารรับ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนได้ (หมายความว่าหากประชาชนต้องการใช้ จะต้องดำเนินการกันเอง การแลกเปลี่ยนเงินคริปโตเป็นเงินหยวนจะทำได้ยากขึ้น) โดยให้เหตุผลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
จากนั้นเรื่อยมาจีนก็พยายามต่อกรกับกระแสของคริปโตมาตลอด จนกระทั่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ในกรุงปักกิ่งสั่งปิดโรงงานเหมืองคริปโตทั้งหมด และในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลยังสั่งให้ธนาคารกลางปิดบัญชีของบุคคลที่ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรือต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเงินคริปโตทั้งหมดแล้ว
จัดการเพื่อรักษาเสถียรภาพ
อิซาเบลลา เวเบอร์ ผู้ช่วยศาสตร์จารย์วิชาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Amherst กล่าวว่าจริง ๆ แล้วจีนพยายามช่วยเหลือนายทุนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฟองสบู่แตกช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังพยายามป้องกันไม่ให้มันเปิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งแน่นอนว่าจุดนี้สิ่งที่เสี่ยงที่สุดในการเกิดฟองสบู่ลูกใหม่ คือ Bitcoin ที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลน่าจะเห็นว่าหากปล่อยให้มีเสรีภาพในการทำเหมืองขุด Bitcoin อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในอนาคตได้
นอกจากนี้ รอส ไฟน์โกลด์ นักกฎหมายและนักวิเคราะห์ด้านความเสี่ยงเผยว่า เนื่องจากรัฐบาลจีนเป็นรัฐบาลที่มิได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จึงจำเป็นที่จะต้องมองหาสิ่งที่สามารถทำให้ประชาชนไว้วางใจได้ นั่นคือการสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น การที่รัฐบาลจีนระมัดระวังเรื่องการเติบโตอย่างผิดปกติของ Bitcoin และคริปโตสกุลอื่น ๆ อาจจะช่วยปกป้องไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศจีนได้รับผลกระทบมากนัก กรณีที่คริปโตเหล่านี้มีมูลค่าตกลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง
เงินคริปโต อาจกระทบต่ออำนาจอธิปไตยทางการเงินของรัฐบาลจีน (Monetary Sovereignty)
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าสาเหตุแท้จริงที่จีนจำเป็นต้องแบนคริปโต เพราะความกังวลในเรื่องของอำนาจอธิปไตยทางการเงินของรัฐบาล หมายความว่าปกติแล้วเงินหยวนจีนจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลแทบทั้งหมด ทำให้รัฐบาลสามารถควบคุมทิศทางของการเงินในจีนได้
แต่เมื่อเงินคริปโตอย่าง Bitcoin ถือกำเนิดขึ้น สิ่งนี้เป็นการทำลายกำแพงธุรกรรมทางการเงินของทุกคนบนโลก เพราะผู้คนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องผ่านธนาคารกลาง เรียกว่า Decentralization และจากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า Bitcoin และคริปโตต่าง ๆ จะไม่ใช้โลหะมีค่าและเครดิตของรัฐเป็นประกัน รัฐบาลจึงไม่สามารถควบคุมมูลค่าของเงินคริปโตได้เลย เพราะมันคือเงินที่จับต้องไม่ได้แต่สามารถนำไปใช้งานได้ทุกที่ สมกับคำที่ว่า Bitcoin is everywhere and nowhere
เมื่อรัฐไม่มีอำนาจในการควบคุมเงิน มูลค่าของ Bitcoin ที่เพิ่มสูงขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และเนื่องจากของ Bitcoin ไม่ต้องอาศัยธนาคารในการทำธุกรรมใด ๆ เลย ยิ่งจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการเข้าออกของเงินในระบบได้เลย ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเงินเหล่านี้ถูกนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ใด ซึ่งแน่นอนว่ามันคงไม่ดีนักกับการจัดการประชาชนของรัฐบาลจีน
อีกประเด็นหนึ่งสำหรับเรื่องอำนาจอธิปไตยทางการเงินของรัฐบาลจีน คือบุคคลที่มีคริปโตไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมาก จะมีสิทธิ์ควบคุมทิศทางของคริปโตในตลาดได้มากกว่า ซึ่งเฉพาะในจีนอย่างเดียวมีการครองครอง Bitcoin ไว้มากถึง 65% ของจำนวน Bitcoin ที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้ นั่นเท่ากับว่าอำนาจการควบคุมมูลค่า Bitcoin จะอยู่ในการควบคุมของกลุ่มคนเหล่านี้ หากมีการเทขายหรือกว้านซื้อจะยิ่งทำให้ราคา Bitcoin ผันผวนมากขึ้นไปอีก เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะจะกลายเป็นว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจในการจัดการเงินที่ประชาชนครอบครองอีกต่อไป
หยวนดิจิทัล vs. คริปโต
ประเทศจีนได้เปลี่ยนมาใช้หยวนดิจิทัล ซึ่งมันเป็นเงินหยวนที่เปลี่ยนจากรูปแบบกระดาษมาอยู่ในระบบดิจิทัล รัฐบาลจะสามารถควบคุมการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น สามารถตรวจสอบบัญชีต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งประชาชนยังสามารถใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้เงินกระดาษแบบเดิม ๆ
แต่เมื่อมีเงินคริปโตเข้ามาไม่ว่าจะเป็น Bitcoin หรือ Ethereum ประชาชนบางส่วนกลับเลือกใช้จ่ายเป็นเงินเหล่านี้แทน สิ่งที่รัฐบาลกังวลนั้นอาจจะไม่ได้มาจากเรื่องที่กลัวว่ามันจะมาแย่งความนิยมไปจากหยวนดิจิทัล แต่การกระทำเช่นนี้เท่ากับหลบหลีกการตรวจสอบธุรกรรมจากรัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นการสั่งแบนจึงเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมนั่นเอง
ทั้งหมดนี้คงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมจีนต้องแบนเงินคริปโตทุกอย่างออกไปจากประเทศ ทำให้นักลงทุนที่ทำโรงงานขุดเหมืองในจีนมีทางเลือกสองทาง คือการย้ายไปตั้งโรงงานในประเทศที่เปิดเสรีให้กับเหล่านักขุด เช่น เอลซัลวาดอร์ หรือนำอุปกรณ์ที่ใช้ขุดเหมืองไปขายเพื่อนำเงินมาใช้ทำธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูล VOA