รีเซต

2 ฟาร์มยันไม่ได้ทำ 'กุ้งเครย์ฟิช' หลุด หลังโผล่น้ำตก ประมงชี้หาก ปชช.พบให้ทำลายทิ้ง-จับทานได้เลย

2 ฟาร์มยันไม่ได้ทำ 'กุ้งเครย์ฟิช' หลุด หลังโผล่น้ำตก ประมงชี้หาก ปชช.พบให้ทำลายทิ้ง-จับทานได้เลย
มติชน
21 มีนาคม 2565 ( 11:06 )
102
2 ฟาร์มยันไม่ได้ทำ 'กุ้งเครย์ฟิช' หลุด หลังโผล่น้ำตก ประมงชี้หาก ปชช.พบให้ทำลายทิ้ง-จับทานได้เลย

เพชรบูรณ์-ประมงลงพื้นที่สำรวจเจอ ‘เครย์ฟิช’ กุ้งเอเลียนสปีชีส์ตายแล้ว ซากเริ่มส่งกลิ่นเน่า เชื่อถูกปล่อยลงแหล่งน้ำที่เขาค้อ ด้าน 2 ฟาร์มเพาะเลี้ยงในพื้นที่ยันไม่ได้ปล่อยหลุด

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีโลกโซเชียลพบ กุ้งเครย์ฟิช หรือ กุ้งก้ามแดง ที่น้ำตกศรีดิษฐ์เขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งถูกจัดเป็นสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศกับแหล่งน้ำท้องถิ่น กระทั่งประมงจังหวัดสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เร่งลงพื้นที่สำรวจ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าสัตว์น้ำต่างถิ่นชนิดนี้จะทำลายระบบนิเวศแย่งที่อยู่อาศัย อาหาร ทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นลดน้อยลง หรือสูญพันธุ์

 

น.ส.สมมาศ บุญยวง ประมงอำเภอศรีเทพ รับผิดชอบงานด้านประมงอำเภอเขาค้อ ลงพื้นที่น้ำตกศรีดิษฐ์เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลแหล่งที่พบกุ้งเครย์ฟิช ทั้งนี้ น้ำตกศรีดิษฐ์ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาค้อ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าหลังมีการแชร์ภาพและข้อมูลกุ้งดังกล่าวทางเฟซบุ๊ก หัวหน้าเขตห้ามล่าฯได้สั่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจแล้ว กระทั่งพบซากกุ้งตัวดังกล่าวที่บริเวณน้ำตกศรีดิษฐ์ จึงทำการเก็บซากมาเพื่อรอให้หัวหน้ามาตรวจสอบดูในภายหลัง

 

จากนั้น น.ส.สมมาศได้ตรวจซากกุ้งก้ามแดง พบว่าเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็นแล้ว แต่ไม่ทราบสาเหตุการตาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีก้ามเหลือเพียงข้างเดียว และจากการวัดขนาดกุ้งพบว่าความยาวตั้งแต่หัวจรดหางเท่ากับ 6.5 นิ้ว คาดว่าเป็นกุ้งขนาดพ่อ-แม่พันธุ์ ค่อนข้างโตเต็มวัย และมีอายุราว 2 ปี ทั้งนี้ ซากของกุ้งเครย์ฟิชเป็นชนิดเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร ไม่ใช่ชนิดเพาะเลี้ยงเพื่อความสวยงาม

 

จากนั้นทางเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าเขาค้อจึงพา น.ส.สมมาศไปสำรวจจุดที่พบซากกุ้งเครย์ฟิช ซึ่งเป็นบริเวณพื้นทรายริมแอ่งน้ำภายในน้ำตกศรีดิษฐ์

 

น.ส.สมมาศกล่าวว่า เบื้องต้นมีข้อสังเกตว่า กุ้งเครย์ฟิชตัวนี้อาจถูกคนเพาะเลี้ยงปล่อยลงแหล่งน้ำ โดยเมื่อปี 2564 มีรายงานจากชาวบ้านพบกุ้งชนิดนี้ในลำน้ำเข็ก บริเวณเหนือน้ำตกศรีดิษฐ์ขึ้นไป โดยมีขนาดใกล้เคียงกัน การพบสัตว์น้ำเอเลียนชนิดนี้ในแหล่งน้ำที่นี่ถือเป็นครั้งที่ 2 ส่วนพื้นที่เขาค้อในช่วงปี 2560 กระแสการเพาะเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชค่อนข้างบูมมาก มีฟาร์มเพาะเลี้ยงที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประมง จำนวน 26 แห่ง แต่หลังจากกระแสตกต่ำทำให้แต่ละฟาร์มเลิกเพาะเลี้ยงปัจจุบันเหลือแค่ 2 ฟาร์มเท่านั้น

 

“ฟาร์มแรกอยู่ที่ ต.สะเดาะพง มีแค่ 2 ตัว ส่วนอีกแห่งอยู่ ต.หนองแม่นา ปัจจุบันเหลือเพียง 6 ตัว โดยทั้ง 2 ฟาร์มยืนยันว่าไม่ได้ปล่อยหลุดลงในแหล่งน้ำ และปัจจุบันการเพาะเลี้ยงก็เพื่อไว้เป็นอาหาร ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเฝ้าระวัง พร้อมประชาสัมพันธ์ชาวบ้าน หากพบกุ้งชนิดนี้ให้ช่วยทำลายทิ้ง หรือสามารถนำไปเป็นอาหารรับประทานได้ ส่วนใครที่เพาะเลี้ยงอยู่ขอให้แจ้งขึ้นทะเบียน เพราะเป็นสัตว์น้ำควบคุม หากพบว่ามีการฝ่าฝืนอาจมีความผิดตามกฎหมาย แต่หากใครที่ไม่ประสงค์จะเพาะเลี้ยงต่อไป ก็ขอให้ทำลายทิ้ง อย่าปล่อยลงแหล่งน้ำในพื้นที่โดยเด็ดขาด” น.ส.สมมาศกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลการประกอบกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม (กุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครย์ฟิช) โดยสำนักงานประมงจังหวัดเพชรบูรณ์ ณ วันที่ 20 มี.ค.65 มีผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดงทั้งประเภทเลี้ยงในบ่อดิน บ่อคอนกรีต และอื่นๆใน 10 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 162 ฟาร์ม จำนวน 58,477 ตัว แยกเป็น อ.ชนแดน 2 ฟาร์ม 217 ตัว, อ.เขาค้อ 2 ฟาร์ม 15 ตัว, อ.น้ำหนาว 4 ฟาร์ม 1,414 ตัว, อ.หล่มเก่า 4 ฟาร์ม 381 ตัว, อ.หนองไผ่ 5 ฟาร์ม 1,700 ตัว, อ.หล่มสัก 9 ฟาร์ม 1,973 ตัว, อ.บึงสามพัน 30 ฟาร์ม 12,308 ตัว, อ.วิเชียรบุรี 33 ฟาร์ม 10,500 ตัว, อ.เมือง 73 ฟาร์ม 28,608 ตัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง