รีเซต

แนะรัฐกระตุ้นบริโภค-ลงทุนในประเทศ ดันจีดีพีทดแทนส่งออกท่องเที่ยว

แนะรัฐกระตุ้นบริโภค-ลงทุนในประเทศ ดันจีดีพีทดแทนส่งออกท่องเที่ยว
มติชน
26 กรกฎาคม 2563 ( 07:49 )
45
แนะรัฐกระตุ้นบริโภค-ลงทุนในประเทศ ดันจีดีพีทดแทนส่งออกท่องเที่ยว

แนะรัฐกระตุ้นบริโภค-ลงทุนในประเทศ ดันจีดีพีทดแทนส่งออกท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ การออกแบบและก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สิ่งที่จะกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเศรษฐกิจภายในประเทศแทนการท่องเที่ยวและการส่งออกได้ต่อจากนี้คือการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ทั้งการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยรัฐจะต้องผลักดันโครงการการก่อสร้างต่างๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการถนน มอเตอร์เวย์ ทางด่วน รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) รถไฟทางคู่ เป็นต้น เนื่องจากโครงการต่างๆ ที่กล่าวมาเป็นการใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก ยกเว้นตัวรถไฟฟ้า ซึ่งเมื่อใช้วัสดุภายในประเทศก็จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียนการบริโภคก็จะตามมา และภาครัฐต้องทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางให้มีเงินใช้หรือมีงานทำหรือสร้างความมั่นใจว่ากลุ่มดังกล่าวจะไม่ตกงานสามรถเลี้ยงตัวเองได้

“การกระตุ้นการบริโภคนั้นภาครัฐจะต้องสร้างแรงจูงใจให้คนจ่ายเงิน ลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินหรือสินเชื่อของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หอการค้า และธนาคารพาณิชย์ ต่างพยายามที่จะช่วยกลุ่มนี้อยู่”นายอธิปกล่าว

นายอธิปกล่าวว่า ในส่วนของวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้นปัจจุบันมีการอนุมัติไปเพียง 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวเชื่อว่ายังไปไม่ถึงไหน ดังนั้นต้องเร่งส่วนที่เหลืออีก 3.2 แสนล้านบาทให้เข้าสู่ระบบโดยเร็ว เพื่อให้ลงไปในระบบเศรษฐกิจให้ได้

“เรื่องที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจมีน้อยลง และการแจกเงินฟรีก็คงทำไม่ได้มาก เพราะพอคนหมดเงินแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร แต่หากกระตุ้นให้คนมีงานทำ คนก็จะมีเงินต่อเนื่องและมีความมั่นใจในการใช้เงิน” นายอธิปกล่าว

นายอธิปกล่าวว่า ส่วนเรื่องแรงงานนั้นปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์มีแรงงานตรงอยู่ประมาณ 300,000 ราย และมีแรงงานเกี่ยวเนื่องอยู่ประมาณ 1 ล้านคน โดยเชื่อว่าหากเหตุการณ์ยังยืดเยื้อและรัฐบาลไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ก็จะทำให้แรงงานตกงานมากขึ้น โดยคาดว่าในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งแรงงานตรงและแรงงานเกี่ยวเนื่องอาจต้องตกลงกว่า 200,000 คน เพราะเมื่อผู้ประกอบการไม่พัฒนาโครงการใหม่ ผู้รับเหมาก็จะไม่มีงานทำ สุดท้ายก็ต้องปลดคนงาน แต่หากรัฐสามารถแก้ไขปัญหาได้ เชื่อว่าแรงงานเหล่านี้จะไม่กระทบ เพราะขณะนี้ทุกฝ่ายพยายามประคองตัวเพื่อที่จะรักษาแรงงานเอาไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง