ชาวเมียนมาแห่มุด vpn-อพยพไปทวิตเตอร์ หลังกองทัพฯ ชี้ เฟซบุ๊กเป็นภัยความมั่นคง
ชาวเมียนมาแห่ใช้บริการเครือข่ายส่วนตัวเสมือน VPN และอพยพทางออนไลน์ไปใช้ ทวิตเตอร์ หลังกองทัพฯ ปิดกั้นเฟซบุ๊ก โดยระบุว่าเป็นภัยความมั่นคง
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 64 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาทำการปิดกั้น โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก (ซึ่งรวมถึง เมสเซนเจอร์ อินสตาแกรม และ วอทส์แอป) ด้วยเหตุผลความมั่นคงของชาติ ทำให้ประชาชนจำนวนมาก หาหนทางอื่น ๆ ในการใช้งาน เช่น การใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) และอพยพทางออนไลน์ ไปใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น เช่น ทวิตเตอร์
โดยคำสั่งการปิดกั้นเฟซบุ๊กจะมีผลไปจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ รัฐบาลทหาร ระบุว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้กระทำการ "แพร่กระจายข่าวปลอมและข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด"
แม้ว่า พรรค NLD ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นประมาณร้อยละ 80 ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 แต่กองทัพกลับปฏิเสธที่จะยอมรับการเลือกตั้งดังกล่าว โดยกองทัพเมียนมากล่าวหาว่า รัฐบาลพลเรือนกระทำการการฉ้อโกงในการเลือกตั้ง
ในวันที่ 1 ก.พ. 64 กองทัพเมียนมา ได้นำการรัฐประหาร โดยนายพล มิน ออง หล่าย และ ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมสัญญาว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งอย่างยุติธรรม แต่ยังไม่ได้เปิดเผยว่าเมื่อใด ต่อมากองทัพได้เริ่มทำการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียภายในประเทศ
บริษัท เทเลนอร์ เอซา ของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ชั้นนำของเมียนมา เปิดเผยว่า บริษัทไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกองทัพเมียนมาให้บล็อกเฟซบุ๊ก แม้ว่าคำขอนั้นจะเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเลยก็ตาม
แอนดี้ สโตน โฆษกของเฟซบุ๊ก ได้กล่าวเรียกร้องทางการเมียนมา ให้คืนการเชื่อมต่อของเฟซบุ๊ก เพื่อให้คนในประเทศเมียนมาสามารถใช้เฟซบุ๊กเพื่อติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อน ๆ รวมถึงเข้าถึงข้อมูลสำคัญในเฟซบุ๊กได้ แต่กองทัพเมียนมายังไม่มีการตอบสนอง
ทั้งนี้มีชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งที่ใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดกั้น และเข้าใช้เฟซบุ๊กต่อไป นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียอย่าง ทวิตเตอร์ ซึ่งไม่ถูกทางการเมียนมาปิดกั้น ก็มีผู้ใช้ใหม่ในเมียนมาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงการขึ้นเทรนด์ของแฮชแท็ก #CivilDisobedienceMovement ซึ่งขึ้นเป็นแฮชแท็กที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศเมียนมา และรองมาคือแฮชแท็ก #JusticeForMyanmar